“มึงงงงงงงงงง แอร์เอเชียมีตั๋วโปร ไปอินเดียกันมั้ย”
“ไปปปปปปปปปปป”
“จองเลยมั้ย”
“จองงง”
“ทุกคนส่งชื่อมาค่ะ”
เราเห็นโปรของสายการบินแอร์เอเชียออกตั๋วราคาเร้าใจออกมา และก็มีเส้นทางที่เราอยากไป นั้นก็คืออินเดีย
เราจัดแจงจองตั๋วเครื่องบินไปอินเดียในเดือนมิถุนายน 2018 จำนวน 3 ใบ เรียบร้อย
“เรียบร้อยนะทุกคนเรามีตั๋วไปอินเดียแล้ว”
“เฮ้ยยย มึง แต่กูไม่รู้จะลางานได้มั้ยว่ะ” นั้นคือเสียงจากสมาชิกของทริปอีกคน
“เออออค่อยว่ากัน ถึงเวลาก็ลาได้อยู่ล้ะ”
ภาพรวมของทริป
ทริปนี้เกิดจากความใจง่ายที่เรากดซื้อตั๋วโปรแอร์เอเชียกันมาแบบงงๆ
ทริปนี้เราเดินทางด้วยกัน 3 คน (ผู้หญิงทั้งหมด) และจะเดินทางไปยัง 3 เมือง คือ Jodhpur – Agra – Jaipur ตามลำดับ ความตื่นเต้นของทริปนี้ไม่ใช่แค่การเดินทางไปอินเดียแค่อย่างเดียว ทริปนี้เราอยากลองเที่ยวอินเดียแบบไม่ต้องเช่ารถพร้อมไกด์ เราเลยเลือกเดินทางข้ามเมืองโดยใช้รถไฟแบบคนท้องถิ่นด้วยค่ะ และการเที่ยวในแต่ละเมืองก็ค่อยไปว่ากัน
อยากรู้ว่าอินเดียจะเป็นไง ก็ต้องไปให้เห็นกับตาตัวเองให้ได้
ตั๋วเครื่องบิน
เส้นทางนี้เราเลือกเดินทางจาก กทม – ชัยปุระ ตั๋วมีหลายสายการบินมากๆๆ
ส่วนเรานั้นได้ตั๋วโปรของ Air Asia ราคาไปกลับประมาณ 5000 บาท
ใครอยากเช็คราคาตั๋วและช่วงเดินทางแนะนำให้ใช้เว็บ Skyscanner >> https://www.skyscanner.co.th
Visa
คนไทยจะเดินทางไปอินเดียต้องขอวีซ่านะคะ และไม่ต้องห่วงว่าการขอวีซ่าอินเดียจะยุ่งยากเลยค่ะ เพราะอินเดียอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวแบบเราค่อนข้างมาก เพราะเราสามารถขอวีซ่าแบบออนไลน์ได้ นอนอยู่บ้านก็ขอวีซ่าได้
รายละเอียดขั้นตอนการขอวีซ่าแบบออนไลน์ Click https://wp.me/p8RAsl-T4
การเดินทางภายในอินเดีย
เดินทางในเมือง : สำหรับการเดินทางในเมืองหายห่วง ตุ๊กๆในอินเดียหาง่ายกว่าขอทานอีก ส่วนในที่อยากนั่งรถแบบไม่ร้อนไม่ต้องต่อรองราคา แนะนำ Uber หมุดตรงจุดเป๊ะ ราคาถูกกว่าต่อรองตุ๊กๆเองด้วย
เดินทางระหว่างเมือง : ในทริปนี้เราใช้ 2 พาหนะในการข้ามเมือง
Jaipur > Jodhpur : รถไฟนอนชั้น 2
Jodhpur > Agra : รถไฟนอนชั้น 2
Agra > Jaipur : แท็กซี่แบบเหมา ราคาแล้วแต่จะต่อรองกัน
การจองรถไฟ : ในส่วนของการจองรถไฟเราแนะนำว่าให้ใช้เอเจนซี่ที่รับจองจะสะดวกที่สุด เพราะเราก็เคยพยายามจะจองเองในเว็บรถไฟของอินเดีย ซึ่ง ณ เวลานี้เรายังไม่ได้เมลตอบกลับการทะเบียนเลย แต่การจองกับเอเจนซี่นั้น เราควรเลือกวันเวลา ขบวน เรียกว่าทุกอย่างให้เรียบร้อยแล้วบอกเอเจนซี่ เพราะถ้าให้เอเจนซี่เลือกให้ก็จะช้าและคิดเงินเพิ่มด้วยนะ
เช็คตารางรถไฟในอินเดีย Click https://www.irctc.co.in/nget/train-search
เมื่อได้ตั๋วรถไฟมาแล้วแนะนำให้ปริ้นติดตัวไปด้วย
ที่พัก
หลายๆคนที่อยากไปอินเดียแต่กลัวความลำบาก เราแนะนำว่าให้เลือกโรงแรมที่เป็นระดับ 4 ดาวขึ้นไป คุณจะได้รับความสะดวกสบายมากกกกกๆๆ อีกอย่างคือที่พักเหล่านี้ราคาไม่แพงเลยเมื่อเทียบกับระดับดาวของโรงแรม
ในทริปนี้เราพักโรงแรมทั้งหมด 3 แห่ง
Jodhpur >> Govind Hotel : อยู่ใกล้สถานีรถไฟจ๊อดปูร์ โรงแรมขนาดเล็ก เหมาะสำหรับเอาไว้เก็บของ // อาบน้ำ คืนละ 400 บาท
Agra >> Hotel Radisson Blu Agra Taj Eate Gate โรงแรมขนาดใหญ่ อยู่ใกล้กับทัชมาฮาล สะดวกสบายบริการดีสมราคาและดาวที่โรงแรมมี ราคาคืนละ 2180 บาท
Jaipur >> Fortune Select Metropolitan Jaipur โรงแรมขนาดใหญ่ อยู่ห่างจากสถานที่ท่องเที่ยว แต่อยู่ติดกับห้าง ใกล้แมคโดนัลด์ บริการดีมากกกกกกกกกกกกก ราคาคืนละ 1250 บาท (รวมเตียงเสริม)
เงิน
ค่าครองชีพที่อินเดียถือว่าถูกมากกกกกกกกกกกกก ค่าอาหาร เครื่องดื่ม ราคาไม่แพงเลย
ส่วนตัวเราแลกเงินสดไปจากเมืองไทย โดยแลกผ่านซุปเปอร์ริชสีเขียว เรทเงินประมาณ 1บาท = 2 รูปี
(ใครจะแลกเงินสกุลที่คนไทยไม่ค่อยแลกกันแนะนำว่าให้โทรไปจองล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วันค่ะ)
บัตรเครดิตสามารถใช้ได้ในอินเดีย แต่แนะนำให้ใช้ในห้างหรือร้านห้างใหญ่ๆเท่านั้นนะคะ
ATM สามารถกดได้ที่ตู้ที่มีสัญลักษณ์ Visa หรือ Master มีค่าธรรมเนียม 100 บาท/ครั้งที่กด (เรากดเงินตู้ ATM ที่อินเดียจะกดเงินแบงค์ใหญ่ๆไม่ค่อยได้ แนะนำให้กดจำนวนไม่เยอะจะสามารถกดได้ทุกตู้ค่ะ)
Internet
อินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งสำคัญมากกกกกกกกกก เมื่อคุณเลือกเดินทางไปยังอินเดีย ทริปนี้เราเลือกใช้ Pocket wifi จากค่าย Smile สามารถเข้าไปอ่านรีวิวได้ที่ https://wp.me/p8RAsl-1bq
ข้อควรระวังในการเที่ยวอินเดีย
- หากเป็นผู้เดินทางคนเดียว หรือ เป็นกลุ่มผู้หญิงเท่านั้น แนะนำให้ไม่ไปไหนกลางคืนคนเดียว
- ผู้หญิงอย่าแต่ตัวล่อเหลี่ยมจนเกิดไป ถ้าคุณเดินทางคนเดียวหรือใช้รถสาธารณะ (ไม่มีไกด์คอยดูแล)
- ซื้อตั๋วหรือบัตรเข้าสถานที่ใดๆ ให้ซื้อด้วยตัวเองเท่านั้น อย่าไว้ใจให้คนอินเดียทำให้ เพราะคุณอาจจะต้องจ่ายในราคาที่แพงมาก
- หากต้องการจ้างอะไรคนอินเดีย แนะนำให้ตกลงเรื่องราคาให้ชัดเจนก่อน
- ข้าวของในอินเดีย (ที่ไม่ใช่อาหาร) แนะนำให้ต่อรองราคาให้มากๆๆ
- หากเหมารถให้พาเที่ยว แนะนำให้เปิด Map เช็คเส้นทางดีๆ เพราะบางครั้งอาจจะพาอ้อม หรือพาออกนอกเส้นทางไปร้านของฝากได้
- ถ้าเราเหมารถในอินเดีย หรือ จ้างไกด์ เกือบทุกคนจะพาเราไปจบที่ร้านขายของฝาก
- อย่าให้เงินขอทานในที่สาธารณะ เพราะคุณจะโดนรุม
- โปรดจำไว้ว่าเงินสามารถแก้ปัญหาทุกอย่างในอินเดียได้
แพลนการเดินทาง
ออกเดินทาง
5 โมงเย็นเป็นเวลาที่เรานัดเจอกับเพื่อนอีก 2 คนที่สนามบินดอนเมือง ก่อนจะมากำชับทุกคนว่าให้เอากระเป๋า Backpack มานะ และคืนนี้ให้ใส่ชุดนอนสบายไว้นะ เพราะเมื่อถึงสนามบินจัยปูร์แล้วเราจะไปขึ้นรถไฟไปยังจอดปูร์ต่อ
ทริปนี้สมาชิกอีก 2 คนไม่เคยไปอินเดียมาก่อน และเราถือว่าเราก็ยังไม่เคยสัมผัสอินเดียอย่างแท้จริงมาก่อนเช่นกัน ถึงแม้จะไปเลห์ ลาดักมาแล้วก็เถอะ (เพราะเราถือว่าเลห์คืออินเดียภาคพิเศษ)
ทริปนี้เราเลือกซื้อน้ำหนักกระเป๋าเพิ่มไป 3 คน รวม 20 กิโล มาถึงสนามบินก็ตรงไปเช็คอินกันค่ะ ใครจะเดินทางไปยังอินเดีย แล้วเลือกที่จะขอวีซ่าออนไลน์ ให้ปริ้นตัววีซ่ามาด้วยนะคะ เพราะพนักงานสายการบินจะขอดูตั้งแต่เราเช็คอินที่เมืองไทยเลยค่ะ
ทริปนี้เราไปกันสามคนเลยเลือกที่จะเช่า Pocket wifi ไปค่ะ หลังเช็คอินแล้ว เราก็เลยไปรับ Pocket wifi ที่เคาเตอร์ของ Smile wifi อยู่ชั้น 1 ของอาคาร 2 ภายในประเทศนะคะ
เราเขียนรีวิว Pocket wifi ไว้อย่างละเอียด สามารถคลิ๊กไปอ่านได้ที่ https://wp.me/p8RAsl-1bq
20.00 น. เป็นเวลาที่เครื่องจะ Take off จากสนามบินดอนเมือง
ทริปนี้นอกจากที่เราจะซื้อน้ำหนักกระเป๋าเพิ่ม เราเลือกที่จะสำรองที่นั่งไปก่อนด้วยค่ะ เพราะกลัวว่าถ้าไม่เลือกไปจะโดนกระจายไปทั่วลำแล้วต้องนั่งข้างๆพี่อินเดีย กลัวว่าจะนอนไม่หลับกัน
และแล้วเราก็คิดถูกค่ะ เพราะถึงแม้เราจะบินสายการบินแอร์เอเชีย แต่กลายเป็นว่าไฟล์ทนี้มีคนไทยแค่ 7 คนเท่านั้นค่ะ ที่เหลือเป็นพี่อินเดียทั้งลำ
22.45 น. (ตามเวลาอินเดีย)
เวลาที่อินเดียจะช้ากว่าไทย 1 ชม. 30 นาที
เรามาถึงก็จะเจอเจ้าหน้าที่ของสนามบินจัยปูร์มาแจกฟอร์มสำหรับกรอกข้อมูลคนเข้าเมือง (ไม่มีแจกบนเครื่องนะคะ แต่แจกตอนถึงสนามบิน)
ข้อมูลที่ต้องกรอกในใบขาเข้าประเทศอินเดีย
- ชื่อ-นามสกุล
- วัน-เดือน-ปีเกิด
- เลขพาสปอร์ต
- เลขเที่ยวบินที่เดินทางมา
- วันที่เดินทางมาถึงประเทศอินเดีย
- ประเทศที่อยู่หกวันก่อนจะมาอินเดีย : กรอกประเทศไทยนะคะ สำหรับคนที่ไม่ได้ไปไหนมาก่อนหน้านี้
- ที่อยู่ในประเทศอินเดีย : กรอกชื่อที่อยู่ของโรงแรมที่พักในคืนแรก
- เบอร์โทร : กรอกเบอร์โทรของโรงแรมที่จะพักในคืนแรก
- เซ็นชื่อ(ให้เหมือนกันที่เซ็นในพาสปอร์ต)
จากนั้นก็เดินต่อมาอีกหน่อย ก็จะมาถึง ตม. ค่ะ ใครทำวีซ่าออนไลน์มาก็ให้มองหาป้ายสำหรับ E-Visa อยู่ฝั่งซ้ายนะคะ
E -Visa
และเราก็มีเรื่องมาเล่า เนื่องจากเราพึ่งเดินทางไปยังเลห์ลาดักเมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา และการเดินทางครั้งนี้ของเราเกิดขึ้นวันที่ 1 มิถุนายน ซึ่งจริงๆแล้ววีซ่าออนไลน์ที่เราขอไว้ครั้งที่แล้วยังสามารถใช้ได้ (ให้ยึดวันที่ๆปั้มตอนขาเข้ารอบที่แล้ว) แต่ก่อนที่จะเดินทางมาไม่นาน เราอ่านเจอจากไหนสักแห่งเรื่องการเข้าครั้งที่ 2 ของวีซ่าออนไลน์ เราก็เลยตัดสินใจโทรไปยังสถานทูตอินเดียประจำประเทศไทย เพื่อถามว่าวีซ่าอันเดิมที่เรามีสามารถใช้ได้มั้ย และได้คำตอบว่าไม่ได้ วีซ่าอันเดิมต้องเข้าสนามบินเดิมเท่านั้น เราก็เลยต้องทำวีซ่าอันใหม่
แต่เมื่อเรามาถึงสนามบินจัยปูร์
“ยูทำวีซ่าใหม่มาทำไม อันเดิมก็ใช้ได้นะ”
“เอ้าาาหรอคะ แต่โทรถามที่สถานทูตอินเดียประจำประเทศไทยแล้ว เขาบอกต้องทำใหม่”
“ยูไม่น่าเสียตังค์สองรอบเลยนะ มันใช้ได้นะ 2 รอบตามที่ปั้มในวีซ่าตอนยูเข้าเลยนะ”
“โอเคค่ะ เข้าใจแล้ววววววววว” เสียตังค์ 2 รอบมั้ยล่ะลิเดียเอ้ยยยย
เราผ่าน ตม. มาแบบเซ็งๆลงมาปุ้บทีมเราเป็นกลุ่มสุดท้ายที่มารับกระเป๋าล่ะคะ
รถไฟอินเดีย
การเดินทางออกจากสนามบินจัยปูร์ เราเลือกที่จะเดินทางด้วย Uber แล้วปักหมุดปลายทางที่สถานีรถไฟจัยปูร์ เรารอ Uber อยู่ไม่นานรถก็มาถึง ใช้เวลาประมาณ 50 นาทีจากสนามบินมาถึงสถานีรถไฟ ค่า Uber ไม่แพงเลยค่ะ ประมาณ 170 รูปี หรือ 80-90บาทเอง เราใช้วิธีตัดบัตรที่ผูกไว้กับแอปนะ ไม่อยากหยิบเงินออกมาตอนกลางดึกแบบนี้
เรามาถึงหน้าสถานีรถไฟจัยปูร์ประมาณ เที่ยงคืนกว่าๆ ซึ่งใครกลัวว่าจะปลอดภัยมั้ยถ้ามาแบบเรา อยากจะบอกว่าสถานีรถไฟคนคึกคักมากกกกกกกกกก เจ้าหน้าที่ตำรวจก็อยู่กระจายอยู่รอบๆค่ะ คุณแค่อาจจะโดนคุกคามด้วยสายตาจากคนอินเดีย แต่เขาก็จะไม่เข้ามายุ่งกับเรานะ
เมื่อมาถึงสถานีรถไฟแล้วให้เรามองหาทางเข้าที่มีช่องสำหรับสแกนกระเป๋าแล้วมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเฝ้าอยู่นะคะ เราผ่านการสแกนกระเป๋าแล้วก็เข้ามาหาที่นั่งรอสำหรับผู้โดยสาร ไม่ต้องห่วงค่ะ โซนสำหรับผู้โดยสารจะมีตำรวจขอเช็คตั๋วนะ ไม่มีตั๋วไม่ให้เข้า ดังนั้นถือว่าปลอดภัยมากในระดับหนึ่งเลยค่ะ
เราเดินเข้ามาหาที่นั่งก็มีสายตาหลายสิบคู่จ้องมายังนักท่องเที่ยวต่างถิ่นอย่างเรา (ใครมาอินเดียทำตัวให้ชินกับสายตาที่มองเราเหมือนเป็นสิ่งแปลกปลอมไว้ค่ะ)
เราจองรถไฟนอน จาก Jaipur – Jodhpur ไว้ตอน 02.45 น. และจะไปถึง 8 โมงเช้าที่ Jodhpur
เรานั่งรอแล้วรออีกง่วงก็ง่วง ร้อนก็ร้อน จะบอกว่าใครจะมาหน้าร้อนของอินเดียแบบเราต้องคิดให้ดีๆ เพราะอากาศร้อนมากกกกกกกกกก มากกกกกกกกกกก มากกกกกกกกกกกกกก กลางคืนก็ไม่ได้เย็นเลยค่ะ เพราะไอร้อนที่เก็บอยู่ในถนนจะระอุออกมา ตอนนี้พวกเราเริ่มมองหน้ากันแล้วก็คิดว่านี่คิดถูกหรือคิดผิวว้ะเนี่ย ที่ใจง่ายจองตั๋วแบบไม่ได้เช็คอะไรเลย
ก่อนรถไฟจะมาประมาณ 30 นาที เราลุกขึ้นไปหาชานชลากันค่ะ เพราะว่าสถานีจัยปูร์ค่อนข้างใหญ่กลัวจะหาไม่เจอ เราใช้วิธีถามคนแถวนั้นไปเรื่อยๆ แล้วเราก็เดินๆมาจนเจอห้องรับรองผู้โดยสารที่มีแอร์ เอ้าาาาาาา ไม่รู้ ถ้ารู้คงไม่นั่งร้อนอยู่ตั้งนานหรอก
ใครที่มาสถานีรถไฟจัยปูร์ แล้วเลือกจองตั๋วรถไฟแบบชั้น 1 – 2 มาให้เดินหาห้องสำหรับผู้โดยสารชั้นนี้นะคะ นั่งรอสบายกว่าเยอะ
เราถามตำรวจที่อยู่แถวนั้นว่าชานชลาที่เราจะไปอยู่ตรงไหน ฟังเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง แต่ก็ได้ความว่าอยู่อีกฝั่ง ระหว่างที่เรากำลังเดินหาชานชลา มีหนุ่มอินเดียตะโกนถามเราว่า “ไป Jodhpur ใช่มั้ย” แล้วบอกว่าทางกับเรา เพราะเขาก็ไปขบวนนั้นเหมือนกัน
และเราก็หาตู้รถไฟชั้น 2 เจอค่ะ หลังเจอรีบขึ้นไปเลยค่ะ ค่อยไปหาเอาว่าเตียงไหน วุ่นวายในการหาที่นอนอยู่สักพักและในที่สุดเราก็เจอเตียงที่จองมาค่ะ แล้วก็จะมีคุณลุงเจ้าหน้าที่บนรถไฟมาเช็คตั๋วกับเตียงที่เราจองมาค่ะ
ตอนนี้ก็ตี 2 กว่าแล้วเตียงอื่นๆเขาหลับกันแล้วค่ะ เราก็ได้แค่เดินไปล้างหน้าแล้วกลับมานอนเงียบๆ
ใครจองรถไฟอินเดีย แนะนำปริ๊นใบจองมาด้วยนะ
เมื่อขึ้นมาบนรถไฟอินเดียแล้ว เรานึกถึงก่อนที่เราจะมาอินเดีย ถ้าเผลอบอกใครว่าจะนั่งรถไฟอินเดีย ก็จะโดนมองด้วยสายตาบางอย่าง แล้วประโยคคำถาม “คิดดีแล้วหรอที่จะนั่งรถไฟอินเดีย” เราก็ได้แค่ยิ้มแล้วตอบว่า “ดีแล้วค่ะ” ถ้าไม่ไปให้เห็นกับตาแล้วจะรู้ได้ไงว่ามันเป็นแบบที่คิดไว้มั้ย
ครั้งแรกที่ได้เห็นรถไฟอินเดีย “ทำไมโบกี้รถไฟอินเดียมันยาวขนาดนี้ว้ะ”
และระหว่างที่เรากำลังเดินหาโบกี้ของตัวเองอยู่ก็ได้เห็นโบกี้ที่เป็นชั้น 3 เป็นโบกี้ที่โคตรแออัด อันนี้แน่ๆที่ติดตาคนไทยแบบเราๆ เมื่อพูดถึงรถไฟอินเดีย
แต่ความจริงแล้วรถไฟอินเดียชั้น 2 ก็คล้ายๆรถไฟชั้น 2 บ้านเรานี่แหละค่ะ บนเตียงก็จะมีผ้าปูที่นอน (ให้เราปูเอง) + หมอน + ผ้าห่ม(แบบผ้าป่านหนาๆ) และแอร์เย็นสบายมากค่ะ
สำคัญที่สุดห้องน้ำไม่แย่นะ
ความรู้สึกแรกที่มีให้รถไฟอินเดีย “มันดีกว่าที่คิดและรถไฟชั้น 2 ปลอดภัยมากสำหรับผู้หญิงเดินทาง”
ใครที่กำลังคิดว่าจะเดินทางด้วยนรถไฟอินเดีย บันทึกนักหนีเที่ยวขอคอนเฟิร์มว่าดีกว่าที่คิดมาก
7 โมงเช้าบนรถไฟ
เราตื่นขึ้นมาเพราะเสียงนาฬิกาปลุกของใครสักคน มองนาฬิกาตัวเองก็รู้ว่า 7โมงแล้ว ตามกำหนดรถไฟจะต้องไปถึงสถานี Jodhpur ตอน 8 โมงเช้า
เราลงจากเตียงตัวเองเพื่อไปเข้าห้องน้ำล้างหน้าแปรงฟันเก็บของแพ็คใส่กระเป๋ารอรถไฟจอดเทียบชานชลา
หลังจากเราเก็บกระเป๋าเรียบร้อย เราก็ลงมานั่งเตียงล่าง พร้อมกับการนั่งมองวิถีชีวิตคนอินเดียที่เดินทางด้วยรถไฟ ทุกคนยิ้มแย้มให้นักท่องเที่ยวแบบเราตลอดค่ะ มันทำให้เรารู้สึกว่ามันคุ้มค่านะที่เราได้ลองนั่งรถไฟอินเดีย เพราะมันสามารถลบภาพที่เราเคยได้ยินได้ฟังมาจนหมดสิ้น
Jodhpur
มองดูนาฬิกาใกล้ 8 โมงแล้ว รถไฟก็เหมือนกำลังจะจอดเทียบชานชลา แต่ก็ไม่รู้ว่ามันใช่สถานีจ๊อดปูร์มั้ย เราเลยสะกิดถามครอบครัวอินเดียที่อยู่บนรถไฟ แล้วได้คำตอบว่า ไม่ใช่ จ๊อดปูร์คือสถานีหน้าไม่ใช่สถานีนี้นะ
และในที่สุดเราก็มาถึงสถานีรถไฟจ๊อดปูร์แล้วค่ะ เลทจากเวลาที่บอกไว้ไม่ถึง 10 นาที เราถือว่าอยู่ในเกณฑ์ตรงเวลา
“มึงงงงงง”
“ว่าาาาา ไง”
“กระเป๋าเป้ใบใหญ่กูขาดดดดดด”
“หืมมมมมมมม เอาไงดีว้ะเนี่ย ขาดตั้งแต่วันแรกเลย”
เหตุเกิดตั้งแต่เริ่มทริปเลยค่ะ เพื่อนเรากระเป๋าเป้ Backpack ขาด แล้วจะสะพายยังไงละทีนี้ เราก็เลยบอกเพื่อนว่าอุ้มไปก่อน เดี๋ยวไปหาแถวหน้าสถานีรถไฟหรือในตลาด มันคงมีให้ซื้อบ้างแหละ
เราเดินออกมาด้านนอกสถานีรถไฟจ๊อดปูร์ก็เจอตุ๊กๆเข้ามารุมค่ะ แต่เราก็บอกปัดและพยามเดินออกมาจากวงล้อมนั้น
เหมือนว่าบุญเก่าพวกเรายังเยอะ เพราะหน้าสถานีรถไฟกำลังมีผู้ชายอินเดียคนนึงกระเป๋าน่าจะขาดเหมือนกัน แล้วก็มีผู้ชายอีกคนที่เป็นคนรับเย็บกระเป๋า เราก็เลยส่งกระเป๋าเพื่อนเราให้ชายอินเดียช่วยเย็บให้ คิดราคา 100 รูปี เราถือว่าไม่แพงค่ะ เพราะดีกว่ากระเป๋าขาดเนอะ
เห่ยยยย เริ่มชอบอินเดียละ
ทริปนี้เรามีเวลาเที่ยวที่ Jodhpur แค่ 1 วัน แถมคืนนี้เราก็ไม่ได้นอน Jodhpur ด้วยนะ เพราะคืนนี้ตอนค่ำเราจะนั่งรถไฟนอนแบบเดิมแต่จะเดินทางต่อไปยัง Agra ต่อค่ะ
เราหาข้อมูลเกี่ยวกับ Jodhpur ว่าจะมีที่ฝากกระเป๋ามั้ย เพราะตอนแรกคิดว่าจะหาที่ฝากกระเป๋าแล้วไปเที่ยวใน Jodhpur ต่อ แต่มาทบทวนทริปนี้ดีๆ ก็เลยเอาใหม่ จองที่พักราคาไม่แพงไว้สำหรับเก็บกระเป๋าและอาบน้ำดีกว่า ถ้าไม่อาบน้ำวันนี้จะได้อาบอีกทีพรุ่งนี้เลยนะ ถ้ามาตอนหนาวก็พอไหว แต่เรามาหน้าร้อน เหม็นตัวเองตายแน่ๆ
เราจองที่พักไว้ใกล้กับสถานีรถไฟค่ะ จาก Map บอกว่าใช้เวลาเดินไม่เกิน 5 นาที ก็จะถึงโรงแรม
Govind Hotel
โรงแรมเล็กๆ ราคาคืนละ 400 บาท เราเดินมาถึงทางเข้าโรงแรมจะเป็นทางขึ้นเล็กๆอยู่ใกล้กับร้านซ่อมจักรล็อบบี้อยู่ชั้น 2 ค่ะ เราขึ้นมาก็บอกลุงที่เฝ้าล็อบบี้อยู่ ว่าเราจองผ่าน agoda มาแล้ว ลุงไปดูข้อมูลแล้วบอก
“ยูจองห้องแบบพักได้ 2 คนมา แต่พวกยูมี 3 คน ให้พักไม่ได้”
“ลุงหนูเมลมาบอกไว้แล้วนะ ว่าหนูจองไว้สำหรับเก็บกระเป๋าและอาบน้ำเท่านั้น ไม่นอนค้างคืนนี้เพราะจะต้องไปอักราต่อ”
“อ๋ออออ ไม่นอนแน่นะ”
“ไม่นอนค่ะลุง”
“โอเคๆ ตามมาจะพาไปที่ห้อง”
ตัวห้องก็เป็นห้องพัดลม ขนาดเล็กๆมีห้องน้ำในตัว ก็ถือว่าโอเคกับการเอาไว้พักของและอาบน้ำค่ะ เราแต่ละคนผลัดกันไปจัดการธุระของตัวเอง และพร้อมที่จะออกผญจภัยในอินเดียเมืองแรกของเรา
ก่อนที่เราจะออกไปเที่ยว เราเอาพาสปอร์ตมาให้ลุงลงข้อมูลผู้เข้าพักให้เรียบร้อย ระหว่างนั้นก็มีผู้ชายอินเดียเป็นคุณลุงหน้าตาใจดีมายืนอยู่ด้วย
“หนู ให้ลุงพาเที่ยวมั้ย ลุงสามารถพาหนูเที่ยวเมืองจ๊อดปูร์และสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญได้นะ”
“ลุงคิดราคากี่บาทค่ะ”
“1000 รูปีราคาตลอดทั้งวันสำหรับ 3คน”
เราหันไปขอความเห็นจากสมาชิกในทริปว่าเอาไง เพราะราคาที่ลุงบอกก็พอๆกับที่หาข้อมูลมา ระหว่างที่เรากำลังตัดสินใจ ลุงก็เอารูปสถานที่ท่องเที่ยวมาให้เราดูไปด้วย ซึ่งมันก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยวหลักๆของเมืองนี้
“ลุง 700 รูปีได้ป่ะคะ”
“โอเคหนู”
“งั้นโอเคค่ะลุง แต่หนูให้ลุงไว้ก่อน 300 รูปีนะ จบทริปจะให้ที่เหลือนะ”
“ได้เลย”
อีกแล้วค่ะ เราใจง่ายให้อินเดียอีกแล้ว เราตกลงที่ให้คุณลุงคนนี้พาเราเที่ยวจ๊อดปูร์
พวกเราเดินตามลุงมาด้านหน้าโรงแรมตรงถนน ลุงเดินนำไปเรื่อยๆ เราเข้าใจว่าลุงจะพาเราไปที่รถของลุง
“ลุง รถลุงจอดที่ไหนค่ะ”
“ลุงไม่มีรถนะหนู”
“อ้าววววววววววววววว แล้วลุงพาพวกหนูเที่ยวยังไง”
“เดินไง”
เอาแล้ววววววววววววว โดนอินเดียหลอกตั้งแต่ต้นเลยหรอว้ะเนี่ย
“ลุง นั่งรถแทนไม่ได้หรอ เดี๋ยวจ่ายเพิ่มก็ได้”
“ขากลับค่อยนั่งรถ ขาไปต้องเดินถึงจะเข้าถึงจ๊อดปูร์แบบแท้จริง”
“ก็ได้ลุง”
เอาว้ะ ไหนๆก็ไหนๆ เดินก็เดิน
ไอเดินยังไม่ใช่ปัญหาเราหรอกค่ะ แต่มันเดินตอนที่อุณหภูมิ 40 กว่าๆนี้สิ เห้ออออออ ไม่น่าใจง่ายไปกับลุงเลย
ในเมื่อยังไงเราก็ต้องใช้ขาของตัวเองเดินเที่ยวเมืองสีฟ้าแห่งนี้แล้ว ก็ต้องพยามมองหาข้อดีของมันค่ะ ไม่งั้นก็จะเที่ยวแบบเซ็งๆ มันก็จะไม่สนุกและปิดโอกาสตัวเองอีกต่างหาก
เราเดินมาเรื่อยๆจนมาถึงบ้านเรือนของคนท้องถิ่น ละแวกนี้ดูจะเป็นร้านค้ากันเป็นส่วนใหญ่ แต่เราน่าจะมาเช้าร้านก็เลยยังไม่เปิด
“หนูๆ กินจัยมั้ย”
“ก็ได้ค่ะลุง”
“โอเคเดี๋ยวลุงสั่งให้นะ”
เราเดินมาถึงร้านขายจัยแห่งหนึ่ง ลุงก็อยากจะให้ลองกินจัยมาก บอกว่ามันคือชาขึ้นชื่อของอินเดียเลยนะ มาอินเดียต้องกินเลยนะ
ลุงจัดแจงสั่งมาให้เรา 3 แก้ว เป็นแก้วเล็กๆ
“ลุงงงงงงงงงง มันร้อนมากกกกกกกกกก”
“ฮ่าๆๆ มาๆจัดการให้”
เราซดเข้าไปคำแรกก็ต้องร้องตะโกนออกมา เพราะว่ามันร้อนมาก ลุงเห็นแล้วหัวเราะเลยค่ะ เลยรับแก้วจัยไปจัดการทำให้มันหายร้อน ด้วยการรินจากแก้วนี้ไปแก้วโน้นสลับไปสลับมา สักพักมันก็หายร้อนแล้ว
และลุงเป็นคนจัดการจ่ายค่าจัยทั้ง 3 แก้วให้เราด้วยนะ
เราเดินต่อมาเรื่อยๆ
“หนูๆ ลองกินขนมมั้ย เป็นขนมพื้นเมืองของจ๊อดปูร์นะ”
“ก็ได้ค่ะลุง”
“โอเค ลุงไปสั่งให้นะ”
แล้วลุงก็เดินกลับมาพร้อมกับขนมแป้งทอดพร้อมกับราดน้ำหวานเยิ้มๆ
เราลองแล้วอร่อยดีนะคะ แต่มันหวานไปหน่อย ใครมาจ๊อดปูร์อย่าลืมลองชิมดูนะคะ
จากนั้นเราก็เดินถ่ายรูปเล่นตามหลังลุงไปเรื่อยๆ การเดินเที่ยวเริ่มสนุกแล้วค่ะ และเริ่มชอบลุงมากขึ้นทุกที
การเดินเที่ยวมันทำให้เราได้เห็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน สนุกดีนะคะ
“ลุงคะ ที่แรกที่เราจะไปคือที่ไหนคะ”
“ตลาดที่ชาวบ้านซื้อขายกันอยู่ทุกวันนี่แหละหนู”
“อีกไกลมั้ยคะ”
“ไม่ไกลๆ ข้างหน้าเอง”
มาเดินเที่ยวกับลุงเราได้ความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนจ๊อดปูร์เยอะมากค่ะ
ลุงพาเราลัดเลาะจนมาถึงใจกลางตลาดของจ๊อดปูร์แบบที่คนท้องถิ่นเขาออกมาจับถ่ายใช้สอยกัน เราสังเกตว่าในอินเดีย คนที่ทำงานนอกบ้านเกือบ99% เป็นผู้ชาย ได้แต่หันมองหน้ากับเพื่อนว่า “นี่ไม่มีผู้หญิงเลยหรอว้ะ”
“พวกหนูอยากได้กำไลกันมั้ย สวยนะ ผู้หญิงอินเดียชอบทุกคน”
ยังไม่มีใครตอบคำถามลุง แต่เราดันตะโกนเพราะเหลือบไปเห็นบางอย่าง
“ลุงงงงงงงงงงง หนูอยากได้กระเป๋านั้นนนนนนน”
“กระเป๋าไหน”
“นั้นไงลุง กระเป๋านั้นอ่ะ”
“ถุงใส่ของจ่ายตลาดเนี่ยนะที่หนูอยากได้”
“ใช่ค่ะ”
ลุงไกด์ของเราทำหน้างงๆ ที่เราดันเมินกำไลอินเดียที่แกนำเสนอ แต่หันไปกรี๊ดถุงผ้าที่คนอินเดียเอาไว้จ่ายตลาดแทน
หลังจากนั้นลุงยังคงพาเราลัดเลาะเดินดูวิถีชีวิตชาวจ๊อดปูร์ในตลาดไปเรื่อยๆ
“พวกหนูชอบชากันมั้ย”
“ชาอะไรคะ ลุง”
“ชาหอมๆๆนะ ลุงมีร้านมาแนะนำ”
“อ๋อค่ะ งั้นแนะนำมาค่ะลุง”
ลุงเดินนำเราไปยังร้านขายใบชาที่เคลมว่าดีที่สุดในเมืองนี้ได้รรับการรับรองจาก TripAdvisor ด้วยนะ เรานั่งฟังเจ้าของร้านชาอธิบายสรรพคุณพร้อมการดมชาสลับไปมาจนงงว่ากลิ่นไหนคืออะไร แต่ยอมรับว่าชาเขาหอมมากๆๆ และสุดท้ายเราก็จบลงที่เพื่อนเราได้ชาไปเป็นของฝากเจ้านาย
จากนั้นลุงก็พาเราเดินลัดเลาะต่อไปเรื่อยๆ โดยจุดหมายต่อไปก็คือ “Blue City” มันคือโซนที่ชาวบ้านอาศัยอยู่จริง เป็นโซนเมืองเก่าที่บ้านเรือนต่างๆได้ทาสีฟ้าเอาไว้
ลุงพาเราเดินผ่านชุมชนที่ชาวบ้านอาศัยอยู่จริงๆ การเดินเท้าเที่ยวในเมืองแห่งนี้ทำให้เราได้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนอินเดียในเมือง Jodhpur และอีกอย่างที่ทำให้เรารับรู้ได้คือ Jodhpur ยังไม่ใช่เมืองแห่ง Tourist จนเกินไป เดินไปไหน ก็ไม่ได้มีใครวิ่งเข้ามาขอเงิน และไม่มีสายตาคุกคาม มีแต่รอยยิ้มจากชาวบ้านที่ส่งยิ้มมาเมื่อเราเดินผ่าน
เราเดินตามลุงมาเรื่อยๆ ไม่นานก็เริ่มเข้าสู่หมู่บ้านที่บ้านแต่ละหลังเริ่มทาสีฟ้ากันแล้ว ทางเริ่มชันขึ้นเรื่อยๆ ลุงบอกเราว่า โซนเมืองเก่าจะอยู่บนเนินทางเดินจะชันหน่อย
เราชอบการได้เดินไปตามหมู่บ้านที่มีคนท้องถิ่นอาศัยอยู่จริงๆมากกว่าการเดินทางไปเพื่อดูสถานที่ดังๆซะอีก
“มึงงงง กูเหมือนจะเป็นลมเลยว้ะ”
นั้นคือเสียงจากเพื่อนเราคนนึงที่มีอาการไม่ค่อยดีจากการเดินกลางแดดร้อนๆของอินเดีย และตอนนี้พวกเรายังไม่ได้กินข้าวเลยค่ะ
เรารีบบอกลุงว่า สงสัยต้องหาร้านข้าวแล้วล่ะ เพื่อนเราอาการไม่ค่อยดี ลุงรับคำแล้วบอกเราว่า เดินต่อไปอีกนิดจะมีร้านอาหารอยู่ จะได้นั่งพักด้วย
เดินต่อมาอีกนิดแบบที่ลุงว่า เราก็มาถึงร้านอาหารแห่งหนึ่งซึ่งดูแล้วไม่มีชาวต่างชาติเลย ลุงเข้าไปคุยกับเจ้าของร้านเพื่อที่จะหามุมที่อากาศเย็นๆให้พวกเรา จนในที่สุดเจ้าของร้านอนุญาตให้ขึ้นไปนั่งชั้นสอง ซึ่งปกติไม่ได้เปิดเป็นส่วนของร้านอาหาร
“พวกหนูนั่งที่ชั้นนี้นะ ไม่ร้อน และห้องน้ำอยู่ใกล้ๆด้วย จะได้พักผ่อน”
“ขอบคุณค่ะลุง”
ณ นาทีนั้นเรารับรู้ได้ถึงความห่วงใยและน้ำใจจากชาวอินเดียคนนี้ มันทำให้ทัศนคติที่เรามีต่อคนอินเดียเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นมากๆๆ
มื้อแรกในอินเดีย เพื่อนเราบอกขอยังไม่ลองอาหารอินเดียนะ เพราะตอนนี้กินอะไรก็คงรู้สึกไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ดังนั้นสั่งอาหารอินเตอร์แล้วกัน น่าจะรอดที่สุดแล้ว
รสชาติอาหารถือว่าอร่อยเลยนะ (หรือเราหิวก็ไม่แน่ใจ) รวมๆถือว่าผ่าน และที่สำคัญราคาไม่แพงด้วยนะ
“พวกหนูอิ่มกันรึยัง?”
“อิ่มแล้วค่ะลุง”
“งั้นก่อนไปเดินต่อ อยากขึ้นไปดูวิวเมืองบนดาดฟ้ามั้ย”
“ไปปปปปปปปปปปค่ะลุง”
บนดาดฟ้าของร้านอาหารส่วนใหญ่ในจ๊อดปูร์จะมีโต้ะให้เรามานั่งกินข้าวพร้อมชมวิวด้วยนะ แต่เรามาช่วงที่อากาศร้อนแบบนี้ไม่ไหวค่ะ ขอแค่ขึ้นมาชมวิวเฉยๆก็พอแล้วมากกว่านี้น่าจะเป็นลม
เหตุผลเดียวที่เราอยากมาจ๊อดปูร์ก็เพราะเราอยากเห็นวิวเมืองสีฟ้าแบบที่กำลังยืนมองอยู่ตอนนี้ เราไม่แน่ใจว่าเราจะสามารถเก็บภาพได้สวยแบบที่ตาเห็นไปฝากทุกคนได้มั้ย แต่เราอยากจะบอกว่ามันคุ้มค่ามากกับการได้มาอินเดียแล้วมายังเมืองแห่งนี้ มันสวยมากจริงๆ
เราออกจากร้านอาหารมุ่งหน้าจะไปดูวิวมุมสูงของเมืองอีกครั้งที่กำแพงเมืองเก่า แต่เพื่อนเราคนที่ป่วยอาการยังไม่ดีขึ้นค่ะ ลุงเลยอาสาอยู่เป็นเพื่อนแทนเรา และให้เรากับเพื่อนอีกคนเดินขึ้นไปดูวิวมุมสูงแทน
“พวกหนูสองคนขึ้นไปตามทางนี้นะ ไหนๆก็มาแล้วไปดูวิวเถอะ ลุงอยู่เป็นเพื่อนคนที่ป่วยให้เอง”
“ขอบคุณมากนะคะลุง”
จากตัวกำแพงเมืองเก่าสามารถมองเห็นวิวทั้งฝั่งเมืองเก่าที่เราจะเห็นสีฟ้าๆไปทัวร์ และอีกฝั่งคือเมืองใหม่ที่มีตึกสูงๆ อาคารสมัยใหม่เข้ามาแทรกเอาไว้
เราเดินลงจากเขาหลังจากถ่ายรูปมุมสูงของเมืองจ๊อดปูร์ ลุงบอกว่าจุดหมายต่อไปของเราคือ Mehrangarh fort
“อาการเป็นไงบ้างว้ะ ไหวมั้ย”
“ดีขึ้น แต่มึนๆว้ะ เมื่อกี้ตอนพวกมึงไปถ่ายรูปกัน ลุงพากูเข้าไปขอหลบร้อนในบ้านชาวบ้านนะ แกบอกไม่ได้รู้จักหรอก แต่เราแค่หลบร้อน เขามีน้ำใจให้อยู่แล้ว”
เราแอบยิ้มให้กับความมีน้ำใจของคนอินเดีย ที่เราไม่ค่อยได้ฟังจากคำบอกเล่าของนักท่องเที่ยวที่มาอินเดียมากนัก
ลุงพาเราเดินผ่านบ้านของชาวบ้านต่อไปเรื่อยๆ ระยะทางไม่ได้ไกลมาก แต่ทางค่อนข้างชัน เราเดินมาจนถึงทางเข้า Mehrangarh fort
“พวกมึงไปกันนะ กูขออยู่ตรงทางเข้านี่แหละ ไปไม่ไหวว่ะ”
“แน่ใจหรอ”
“เอออไปเถอะ กูเดินไม่ไหวว่ะ”
เพื่อนเราคนเดิมที่ป่วยขอไม่เดินขึ้นไปด้านบนของ Mehrangarh fort เพราะคิดว่าไม่ไหวแน่นอน เราปรึกษากับลุงกันอยู่พักใหญ่ว่าจะให้เพื่อนอยู่ตรงนี้คนเดียวจะปลอดภัยมั้ย
ลุงเลยหาที่นั่งสบายๆให้เพื่อนเราและฝากลุงยามที่อยู่ประตู้หน้าป้อมช่วยดูแลเพื่อนอีกแรง
“ลุงงงงงงงง อีกไกลมั้ยคะ”
“ไม่ไกลๆๆ ไหวมั้ย”
“ไม่ไหวววววววววววววววววววววค่ะลุงงงงงงงงงงงง”
ร้อนนนนนนนนนนนนนนนนนมากกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกก
เราเดินแล้วโซเซ ขึ้นมาตามทางกว่าจะถึงจุดขายตั๋วสำหรับเข้า Mehrangarh fort เล่นเอาลิ้นห้อยเลยค่ะ
ก่อนถึงจุดขายตั๋วจะมีร้านขายเครื่องดื่มและอาหารว่างด้วยนะคะ
เราเดินจนมาถึงจุดที่ขายตั๋วสำหรับเข้า Mehrangarh fort สักที
“ลุงงงง เดี๋ยวเราต้องเดินขึ้นไปด้านบนที่สูงๆนั้นหรอคะ”
“ใช่ๆๆ”
“เหนื่อยตายแน่เลยค่ะลุง”
“ฮ่าๆๆๆ มันมีลิฟท์ เดี๋ยวเราซื้อตั๋วแบบรวมลิฟท์ด้วยเนอะ ให้เดินขึ้นลุงก็ตายเหมือนกัน”
“เยี่ยมมมมมมมมมมมมมค่ะ รอดตายละ”
เราขอให้ลุงช่วยซื้อบัตรเข้าสำหรับเข้า Mehrangarh fort หน่อย เพราะตอนนี้เหนื่อยหอบจนพูดไม่รู้เรื่องแล้ว ระหว่างที่ลุงกำลังเจรจาซื้อบัตรเข้าให้เรา เจ้าหน้าที่ก็ถามหาบัตรอนุญาตการเป็นไกด์ในจ๊อดปูร์ของลุง ณ ตอนนั้นล่ะคะ เราถึงได้รู้ว่าลุงเป็นไกด์แบบถูกกฎหมาย มีใบอนุญาตถูกต้องนะ ว่าทำไม ถึงข้อมูลแน้นนนแน่นนน
และเราก็ได้บัตรมาค่ะ และต้องจ่ายค่าเอากล้องเข้าไปด้านในด้วยนะคะ
ค่าเข้า Mehrangarh fort แยกออกเป็นค่าเข้าสถานที่ 600รูปี/คน และค่ากล้องถ่ายรูป 100รูปี/ตัว
เราขึ้นลิฟท์มาด้านบนของ Mehrangarh fort ก่อนจะเข้าด้านใน เราขอทนร้อนเพื่อถ่ายรูปวิวที่มองเห็น Jaswant Thada ซึ่งมองจากตรงนี้วิวสวยมากค่ะ แต่เรามาหน้าร้อนแบบนี้ในอินเดียมีฝุ่นฟุ้งอยู่ในอากาศเต็มเลยค่ะ
“ลุง หลังจากนี้ขอไป Jaswant Thada นะ”
“ลุงว่าพวกหนูมีเวลาไม่พอนะ ที่นั่นไกล ต้องนั่งรถออกไป แล้วอีกอย่างเพื่อนหนูคนที่ป่วยลุงว่าไม่ไหวหรอก”
“หือออออ อยากไปอ่ะลุง”
“ที่นั่นไม่สวยเท่าที่นี่หรอก เชื่อลุง”
“ก็ได้ค่ะลุง”
หลังจากคุยกับลุงก็ได้ข้อสรุปว่าเราจะไม่ดื้อไปก็ได้ เพราะสงสารเพื่อนที่ป่วย ขนาดอยู่ในเมืองยังแย่เลย เอาไว้ค่อยมาแก้มือรอบหน้าละกัน
วิวด้านบนยังเห็นเมืองจ๊อดปูร์แบบเต็มตาด้วยนะคะ ถ้ามาช่วงหนาวคงสามารถเก็บมุมนี้ได้อีกเยอะ แต่ร้อนแบบนี้ไม่ไหวแล้วค่ะ หน้าไหม้
ด้านในของตัว Mehrangarh fort ใหญ่อลังการมากค่ะ ใครที่อยากได้ข้อมูลแบบ audio ก็สามารถแจ้งตอนซื้อตั๋วได้ค่ะ แต่เราไม่ได้เอาเพราะมีลุงทั้งคน
ลุงเดินนำเราไปดูโซนจัดแสดงต่างๆ ด้านในมีวัตถุโบราณที่นำมาจัดแสดงเยอะมากค่ะ เดินเล่นไม่เบื่อเลยค่ะ เราฟังลุงเล่าไปเรื่อยๆ สนุกดีค่ะ แต่ก็จำไม่ได้หรอกว่ามีข้อมูลอะไรบ้าง 555555
เราไม่เจอนักท่องเที่ยวต่างชาติใน Mehrangarh fort มีแต่คนอินเดียเองที่มาเที่ยว
ภายใน Fort ยังมีห้องที่เคยเป็นของกษัตริย์จัดแสดงจำนวนหลายห้องด้วยนะ คืออยากจะบอกว่าราคาที่จ่ายมา 600 รูปี คุ้มมากกกกกกกกกกกกกกกก
ภายใน Mehrangarh fort มีบันไดวนให้เราโดยแต่ละชั้นก็จะเป็นห้องจัดแสดงสิ่งของต่างๆ และเมื่อเราเดินขึ้นมาเรื่อยๆเราจะได้เจอกับวิวเมืองเก่าสีฟ้าที่สามารถมองเห็นได้สุดลูกหูลูกตา
ระหว่างที่เราถ่ายรูปเล่นอยู่นอกจากจะมีสายตาคนอินเดียจับจ้องมาที่เราอย่างกับเราเป็นตัวประหลาดแล้วนั้น ก็มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งเดินเข้ามาขอเราถ่ายรูปด้วย ลุงบอกเราว่าถ้าเด็กหรือผู้หญิงเข้ามาขอถ่ายรูปให้ถ่ายได้ แต่ถ้าเป็นผู้ชายวัยรุ่นขออย่าถ่ายนะ มันดูไม่ดี อีกอย่างพวกนั้นอาจจะคิดไม่ดีด้วย
โอเคค่ะลุง รับทราบ
เราใช้เวลาอยู่ที่ Mehrangarh fort นานหลายชั่วโมง แต่จริงๆก็อยากอยู่ต่อเพราะเราว่าที่นี่มันคุ้มค่ากับการเดินทางมาจริงๆ แต่วันนี้เราต้องบอกลา Mehrangarh fort แล้วนะ
เราเดินลงกลับมาทางเดิมเรื่อยๆเพื่อกลับไปยังจุดที่เพื่อนเราอยู่
“มึงเป็นไงบ้าง ดีขึ้นมั้ย”
“ดีขึ้นบ้างละ ได้งีบไปหน่อยนึง”
ระหว่างที่เราถามอาการของเพื่อนที่ไม่สบายแล้วไม่ได้ขึ้นไปเที่ยวกับเรา ระหว่างนั้นเราสักเกตุเห็นลุงไปขอบคุณเจ้าหน้าที่ ที่อยู่ตรงประตูที่ดูแลเพื่อนเราให้ ไม่พอแค่นั้นเพราะลุงไกด์ยัดเงินให้ลุงเจ้าหน้าที่คนนั้นเป็นการขอบคุณ
เราไม่อยากจะเชื่อว่าเราจะได้รับน้ำใจจากคนอินเดียมากขนาดนี้ เพราะก่อนเดินทางมามีแต่คนบอกว่าระวังคนอินเดียหลอกเงินนะ ระวังคนอินเดียเจ้าเล่ห์นะ แต่ความอยากรู้มันนำพาให้เรามาลองสัมผัสอินเดียด้วยตัวเอง แล้ววันนี้เราก็ได้รู้แล้วว่าจริงๆอินเดียก็ไม่ได้เป็นแบบที่คนอื่นพูดหรอก คุณต้องมาลองสัมผัสด้วยตัวเอง
ลุงพาเราเดินเที่ยวในโซนเมืองเก่าอีกหน่อย
เราชอบเดินเล่นในจ๊อดปูร์นะ เพราะเราจะได้เห็นวิถีชีวิตของคนอินเดียแบบใกล้ชิดมากๆๆ
“ไหวกันอีกมั้ย” ลุงถามหันมาดูหน้าพวกเรา
“ไม่ไหวแล้วค่ะ หมดแรง”
“งั้นกลับเลยนะ”
“โอเคค่ะ”
แล้วลุงก็ทำตามข้อตกลงเรื่องทัวร์สำหรับวันนี้ ขากลับเราจะกลับตุ๊กๆกัน เพราะตอนนี้ให้เดินก็คงไม่ไหวแล้ว เรากินน้ำไปกี่ลิตรแล้วไม่รู้วันนี้
เหนื่อยมากกกกกกกกกกกกก แต่คุ้มค่ามากเช่นกัน
ลุงมาส่งเราถึงโรงแรม
เรากล่าวคำขอบคุณลุงที่ทำให้การเที่ยวอินเดียตั้งแต่วันแรก เราจ่ายเงินส่วนที่เหลือให้ลุง และให้ทิปลุงอีก 100 รูปี ลุงรับด้วยความดีใจมาก และบอกเราว่าจริงๆไม่ต้องให้ทิปลุงหรอก ขอแค่ไปบอกเพื่อนๆให้มาเที่ยวจ๊อดปูร์กันเยอะๆก็พอ
ใครสนใจจะให้ลุงพาเที่ยวลองติดต่อลุงไปนะคะ
เรามักบอกตัวเองเสมอว่าเมื่อต้องเดินทางไปที่ไหนสักแห่ง จงอย่าคาดหวังว่าจุดหมายปลายทางจะต้องเป็นแบบไหน แต่ให้เดินทางเพื่อไปให้เห็นว่าจริงๆแล้ว จุดหมายปลายทางนั้นมันเป็นอย่างไร
“จงมองอย่างที่มันเป็น อย่ามองในแบบที่เราอยากให้เป็น”
สำหรับการเดินทางมาอินเดียวันแรกของเรา ทุกอย่างมันออกมาดีกว่าที่เราคิดเอาไว้มากมาย หรือจริงๆเพราะเราไม่ได้คาดหวังว่าจ๊อดปูร์ของเราจะเป็นอย่างไร แต่เราปล่อยให้จ๊อดปูร์นำเสนอตัวเองออกมาให้เราได้รู้จักเอง และเราก็ไม่แน่ใจว่าถ้าเราไม่เจอไกด์ดีๆแบบลุง การเที่ยววันนี้ของเราจะออกมาดีแบบนี้รึป่าว สุดท้ายต้องขอบคุณโชคที่นำพาให้เราได้รู้จักกับลุงและมิตรภาพดีๆระหว่างทาง
เดินทางอีกครั้ง
เราใช้เวลาอยู่ที่โรงแรมในการจัดการธุระตัวเองอยู่อีกพักใหญ่ๆ รวมทั้งการปาร์ตี้มาม่าเป็นมื้อเย็นสำหรับคืนนี้ด้วย เราเดินจากโรงแรมมายังสถานีรถไฟใช้เวลาไม่ถึง 10 นาที
สถานีรถไฟจ๊อดปูร์เล็กกว่าที่จัยปูร์ค่อนข้างมาก ทำให้เราเดินหาชานชลาได้ไม่ยากนัก และรถไฟที่จะพาเราออกจากจ๊อดปูร์ก็มารอเราอยู่แล้ว แต่กว่ารถไฟจะออกก็เลทไปเกือบ 20 นาที
ตอนนี้เรานั่งคุยและหัวเราะเกี่ยวกับการเดินทางของวันนี้ การเดินทางกับเพื่อนรู้ใจมันมีความสุขและสนุกมากเลยค่ะ
คืนนี้เราเดินทางด้วยรถไฟเหมือนเดิม สถานีต้นทางเริ่มจาก Jodhpur เวลา 20.30 น. ปลายทาง Agra ถึงประมาณ 6 โมงเช้า
สวัสดี Agra
รถไฟมาถึงชานชลาเมือง Agra เลทไปจากที่กำหนดประมาณ 30 นาที
ตอนนี้เรามาแบบไม่มีแพลนอะไรอยู่ในหัว รู้แค่ว่าต้องหารถไปโรงแรมให้ได้เท่านั้นเอง
เราเดินออกมาจากสถานีรถไฟเพื่อมองหาตุ๊กๆ แต่แล้วเราก็ได้เจอกับชายอินเดียอายุประมาณ 40 กว่าๆ เข้ามาถามว่าเราจะไปที่ไหน ตอนแรกเราพยามบอกปัด แต่ผู้ชายคนนี้ก็ยังคงเดินตามมาแล้วก็ถามอีกว่าจะไปไหน
“จะไปโรงแรม เอดิสัน ค่ะ”
“โอเค ผมรู้จักผมไปส่งได้นะ”
“คิดราคาเท่าไร”
“200รูปี”
เราต่อรองราคากันอยู่นานกว่าจะได้ราคาที่เราพอใจ จนสุดท้ายเราก็ใจง่ายให้ชายอินเดียคนนี้ไปส่ง
และเมื่อขึ้นมาบนรถของคุณพี่คนนี้ก็เริ่มขายของกับเราค่ะ ตั้งแต่เอาไดอารี่ที่มีคนไทยเขียนรีวิวเกี่ยวกับตัวเขาเป็นภาษาไทย แล้วก็ขายทริปเราว่าจะพาเที่ยวไปที่ต่างๆตลอดที่อยู่ในอักรา รวมถึงจะไปส่งเราที่จัยปูร์พร้อมกับแวะเที่ยวระหว่างทางหนึ่งแห่งด้วย
ในที่สุดเราต่อรองกันอย่างสุดเหวี่ยงก็ได้มาในราคา 5200 รูปี (ต่อ 3 คน เท่ากับคนละ 870บาท) ซึ่งราคานี้อาจจะไม่ได้ถูกที่สุดนะคะ แต่เราสามคนคิดดูแล้วว่าเราโอเคก็เลยตกลงกันตามนั้นค่ะ
Hotel Radisson Blu Agra Taj Eate Gate
เราจองโรงแรมผ่าน agoda มาในราคา 2180 บาท ซึ่งสามารถเข้าพักได้ 3 คน เหตุที่จองโรงแรมแห่งนี้มาเพราะมันอยู่ใกล้กับประตูของทัชมาฮาล ซึ่งก็ไม่ได้สังเกตว่ามันเป็นโรงแรม 5 ดาว เพราะราคาที่หารต่อคนแล้ว เหลือแค่คนละ 726 บาท
แต่เมื่อมาถึงโรงแรมแห่งนี้เป็นโรงแรม 5 ดาว และมักจะมีนักธุรกิจหรือบุคคลสำคัญหลายๆท่านมาพักที่นี่ด้วย แต่เราจ่ายมาในราคาหลักร้อยถือว่าคุ้มมากค่ะ
เรามาถึงโรงแรมตอนประมาณ 8โมง ซึ่งทางพนักงานก็บอกว่าถ้าเราจะเช็คอินเลยก็สามารถทำได้ แต่ต้องรอประมาณ 30 นาทีนะ ระหว่างนั้นเราเลยขอไปทานข้าวเช้าที่ห้องอาหารเช้าของโรงแรมรอละกัน (ราคาอาหารเช้าวันนี้คิดเพิ่มนะคะ)
เรานัดคุณพี่คนขับรถเอาไว้ให้มารับเราหน้าโรงแรมเพื่อเที่ยวใน Agra วันแรก
(เอาจริงๆเราลืมชื่อว่าพี่เขาชื่ออะไร)
จุดหมายแรกของการเที่ยวในอักราของเราก็คือ Akbar’s tomb ซึ่งจากโรงแรมที่เราอยู่ใช้เวลาเดินทางกว่า 40 นาทีเลยค่ะ นานขนาดที่เพื่อนเราสองคนหนีไปเฝ้าพระอินทร์กันหมด
จริงๆเราไม่ได้แพลนว่าจะไปสถานที่แห่งนี้เลยค่ะ แต่คุณพี่คนขับบอกว่าที่นี่ก็ต้องมานะ มันอยู่ในโปรแกรมคนมาเที่ยวอักราเลย
โอเคค่ะพี่ไปก็ไป
Akbar’s tomb
ค่าเข้า Akbar’s tomb 15 รูปี/คน ราคานี้คือราคาของคนท้องถิ่น ซึ่งคนไทยแบบเราได้สิทธิพิเศษอันนี้ด้วยค่ะ เพียงแค่แสดง Passport ไทย ก็จะได้ราคาค่าเข้าแบบย่อมเยาว์มาครอง
จากบริเวณขายตั๋วให้เดินต่อเรื่อยๆมาตามทางนะคะ สังเกตได้จากเห็นนักท่องเที่ยวเดินไปเดินมาก็ตามไปเลยค่ะ
แล้วเราจะมาเจอด้านทางที่เป็นทางเข้า มีการตรวจอาวุธ และห้ามเอาขาตั้งกล้องเข้าไปนะคะ
แล้วก็ต้องเดินเข้าไปอีกกกกกกกกกกกกกกกก
ระยะทางดูเพิ่มขึ้นเยอะมากกกกกกกกกก เมื่ออากาศร้อนถึง 45 องศา
ด้านในของ Akbar’s tomb เป็นสุสานของบุคคลสำคัญท่านหนึ่ง ซึ่งเราก็ไม่รู้ด้วยว่าคือใครเพราะที่นั่นไม่มีอธิบายไว้เลย และเราก็ไม่ได้หาข้อมูลอะไรไปด้วย เราก็เลยเดินเข้าไปวนๆแล้วออกมา
ถ้ามาเที่ยวสถานที่ๆเป็นประวัติศาสตร์แต่เราไม่มีข้อมูลอะไรในหัวเลย ก็ไม่ต่างอะไรกับการมาดูแท่งหิน
” มันนี่ มันนี่”
“ค่าอะไรค่ะ”
“ค่าเฝ้ารองเท้าให้ไง”
“เอ้าาาาา”
และตรงนี้คือถ้าเราจะต้องถอดรองเท้าก่อนจะเข้าไปด้านใน ซึ่งก็มีชายอินเดียคนหนึ่งมาคอยเหมือนเฝ้ารองเท้า และเมื่อเราออกมาจากด้านในก็มาเรียกร้องให้เราจ่ายเงินค่าเฝ้ารองเท้าให้ ซึ่งไม่ได้โดนแค่นักท่องเที่ยวต่างชาติแบบเรานะคะ เพราะคนอินเดียเองที่มาเที่ยวก็โดน เราเห็นหลายคนก็ทำหน้าไม่พอใจแต่ก็ยอมเอาเงินให้ไป
อินเดียแรกเริ่มเข้ามาทักทายเราแล้วค่ะ
ในอักรา สถาปัตยกรรมเกือบทั้งหมดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวในปัจจุบัน เกิดขึ้นในสมัยที่อินเดียกษัตริย์เป็นชาวมุสลิม และทำให้เราได้เห็นว่ากษัตริย์ทั้งหลายเท่านั่น แม้วันนี้จะจากไปนานแสนนานแล้วก็ตาม แต่พวกท่านเหล่านั้นได้ทิ้งสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่ไว้ให้อินเดีย
เราออกจาก Akbar’s tomb แล้วมุ่งหน้าต่อไปยัง Tomb of I’timād-ud-Daulah หรือรู้จักกันในชื่อ Baby Taj
Tomb of I’timād-ud-Daulah
ค่าเข้าคนละ 15 รูปี แสดงพาสปอร์ตไทยเหมือนเดิม
เบบี้ทัช เป็นชื่อเรียกเข้าใจง่ายของสถานที่แห่งนี้เพราะด้วยรูปลักษณ์ วัสดุที่นำมาสร้างนั้นก็คล้ายๆกับ ทัชมาฮาล เชื่อว่าหลายคนต้องคิดว่าสถานที่แห่งนี้ถูกสร้างเรียนแบบทัชมาฮาล แต่แท้จริงแล้ว Baby Taj ถูกสร้างมาก่อน Taj Mahal และเป็นต้นแบบของ Taj Mahal อีกด้วย
ใครจะเข้าไปด้านในเบบี้ทัช จะต้องใส่ถุงสวมรองเท้านะคะ ถ้าไม่สวมถุงก็ต้องถอดรองเท้าเท่านั้น และแน่นอนค่ะมีค่าใช้จ่าย แล้วแต่ว่าเราจะให้เท่าไรค่ะ
เบบี้ทัชเป็นสถานที่ๆสร้างขึ้นมาเพื่อฝังพระศพของพระบรมวงศานุวงศ์ของกษัตริย์ชาห์ชะฮาน ซึ่งพระศพที่อยู่ในเบบี้ทัชแห่งนี้เป็นพระศพจริงทั้งหมด
ภายในห้องนี้คือพระศพจริงของพระบิดาและพระมารดาของกษัตริย์ชาห์ชะฮาน (กษัตริย์ที่สร้างทัชมาฮาล)
ตอนที่เราเดินเข้ามาด้านในก็มีลุงอินเดียแต่งตัวดี เข้ามาทำหน้าที่เป็นไกด์ให้เราค่ะ ตอนแรกเข้าใจว่าลุงเป็นเจ้าหน้าที่ ที่คอยอธิบายให้นักท่องเที่ยวเข้าใจ ซึ่งเมื่อผ่านไปสักพักเริ่มระลึกได้ว่าตอนนี้เราอยู่ในประเทศอินเดีย โดนอีกแน่ๆ แต่ก็ให้ลุงแกอธิบายไปค่ะ เพราะฟังแล้วก็เพลินดี
ถ้าเราตัดอคติเรื่องของการยัดเยียดไกด์ให้กับนักท่องเที่ยว การมีไกด์ในแต่ละสถานที่ก็ดีเหมือนกันนะคะ เพราะนอกจากความรู้ที่เราจะหาอ่านเองได้จาก google แล้ว ไกด์เหล่านี้จะรู้มุมถ่ายรูปสวยๆของสถานที่นั้นๆ
ความสวยงามของศิลปะทั้งภายในและภายนอกคุ้มค่ากับการมาให้เห็นกับตาตัวเอง
ลุงพาเราเดินจนครบแล้วก็ถึงเวลาที่ลุงขอเงินค่ะ ค่าไกด์ส่วนตัว เราให้ลุงไป 100 รูปี ลุงขอเพิ่มอีกหน่อย สรุปเราจ่ายค่าไกด์ไปในราคา 130 รูปี
จากนั้นเราเลยขอเดินไปยังอาคารที่อยู่ในบริเวณนั้น ไม่แน่ใจว่าเขาเรียกอะไร แค่คิดว่ามุมนั้นน่าจะสวย เพราะมีคนอินเดียเดินไปเช่นกัน
เราเดินเข้าไปใกล้ก็มีพี่เจ้าหน้าที่คอยดูแลบริเวณนั้น กวักมือเรียกบอกว่าให้มาถ่ายรูปเบบี้ทัชจากมุมนี้สิมันสวยนะ
คนใจง่ายแบบพวกเรา เชื่อสิค่ะ
แล้วมันก็สวยแบบที่พี่แกพูดจริงๆนะ
“ดีนะที่ใจง่าย”
“หิวกันรึยังครับ”
“หิวละค่ะ พี่มีร้านอาหารแนะนำมั้ย”
“อยากกินแบบไหนครับ”
“เอาที่ไม่อินเดียจ๋านะคะพี่” เพื่อนเรารีบตอบก่อน
“งั้นผมมีร้านแนะนำครับ ร้านนี้ถ้าไม่อร่อยผมจ่ายเองครับ”
เอาาาาแล้ววววว ไม่น่าเปิดทางให้พี่แกเลย
เรามาถึงร้านอาหารที่พี่คนขับรถบอกว่าอร่อยมากกก เอาว้ะ เชื่อก็เชื่อ เราเลือกสั่งเมนูที่เป็นอาหารตะวันตก เพราะว่าถ้าเลือกเป็นอาหารอินเดียจานใหญ่มากกก เราทานกันไม่หมดแน่นอน
และร้านนี้รสชาติอาหารอร่อยสมคำล่ำลือจริงๆด้วยค่ะ ไม่ผิดหวัง
” next stop เราคือที่ไหนค่ะ”
“สวนเมทับครับ”
“มึงที่ไหนคือสวนเมทับว้ะ” นั้นคือคำถามจากเพื่อนเราเองค่ะ
“สวนเมทับคือสวนสาธารณะที่มองเห็นทัชมาฮาล เขาว่ากันว่าที่นี่มีวิวสวยมาก”
“โอเคคคค Let’goo ”
Meht Ab Bagh หรือที่นักท่องเที่ยวไทยนิยมเรียก สวนเมทับ
ค่าเข้า 15 รูปี แสดงพาสปอร์ตไทยแบบเดิม
“พี่สาวครับ พี่มาจากประเทศไหน”
ระหว่างที่เรากำลังซื้อตั๋วเพื่อเข้าสวนเมทับอยู่นั้นก็มีเด็กชายชาวอินเดีย หน้าตามอมแมมเข้ามาทักเรา
“ประเทศไทยจ้ะ”
“พี่สนใจของที่ระลึกหน่อยมั้ย สวยๆๆนะ ไม่แพงด้วย”
“ไม่ดีกว่าจ้ะ”
“ลองเลือกก่อนได้นะครับ ผมขายไม่แพง”
“ไม่เป็นไรจ้ะ”
“นะครับ ผมต้องหาเงินไปโรงเรียนนะ ผมรู้พี่ไม่ใจร้ายกับผมหรอก” เจ้าเด็กชาวอินเดีย เริ่มออดอ้อนกับเรา พร้อมกับเอามือไปปาดที่ตา
“นี่ต้องทำร้องไห้เลยหรอ”
“ป่าวครับ ผมร้อน”
“5555555 ตอนนี้พี่ยังไม่สนใจนะ”
“งั้นผมรอพี่กลับออกมาก็ได้ครับ เผื่อพี่จะสนใจนะ”
“อาจจะนะ”
นี่เป็นครั้งแรกที่เราโดนเด็กในอินเดียมาพยามขายของ แต่ตอนนั้นเราไม่ได้รู้สึกรำคาญอะไรนะคะ เรามองว่าเด็กคนนี้ฉลาดช่างเจรจาดี
สุดท้ายตอนเรากลับออกมาเราเลยยอมให้ความช่างขายของเด็กคนนี้เลยช่วยอุดหนุนมา 3 ชิ้น
เราเดินเข้ามาด้านในสวนเมทับ พวกเราเลือกเวลาไม่ดีนัก ดันมากันตอนแดดร้อนเกือบ 48 องศาขนาดนี้
วิวจากสวนเมทับ สามารถมองเห็นทัชมาฮาลแบบชัดมากกกกกกกกก
ยิ่งใหญ่มากกกกกกกกกกกกก ขนาดพวกเราอยู่ไกลนะ
เรายืนมองทัชมาฮาลกลางแดดร้อนๆอยู่นานมาก เสียดายที่เรามาหน้าร้อน เลยถ่ายรูปออกไม่สวยแบบที่คิดไว้ เพราะในอากาศเต็มไปด้วยฝุ่น แต่ยังไงก็รู้สึกขอบคุณตัวเองที่ตัดสินใจเดินทางมาอินเดีย และยิ่งตื่นเตนกว่าเดิมเข้าไปอีก เพราะพรุ่งนี้เราจะไปเยี่ยมชมทัชมาฮาลจริงๆซะที
“เราจะไปป้อมอักรากันต่อนะครับ”
“โอเคค่ะ”
“หลังจากนั้นพวกคุณอยากไปเที่ยวไหนต่อมั้ยครับ”
“อยากไปตลาด Kinari ค่ะ”
“ตลาดนั้นคนแน่นมากเลยนะครับ พวกคุณแน่ใจนะว่าจะไป”
“ค่ะ อยากไปและจะไปค่ะ”
“โอเคครับ”
Agra Fort
ป้อมอักราอีกหนึ่งไฮไลท์ที่เที่ยวในอักราค่ะ
ค่าเข้าป้อมอักรา 30 รูปี แสดงพาสปอร์ตไทยแบบเดิมนะ
“คุณผู้หญิงมีไกด์รึยังครับ”
“ไม่เป็นไรขอบคุณค่ะ”
“ผมมีไกด์ภาษาอังกฤษดีมากเลยนะ ภาษาจีนก็มีนะ”
“มีภาษาไทยมั้ย”
“ไม่มีครับ”
“งั้นบายค่ะ”
หน้าป้อมอักรามีคนมาตื้อขายไกด์กับพวกเราค่ะ โดยแสดงภาษาโน้นนี่ เราพยามปฏิเสธก็ยังตามตื้ออีก จนเราต้องถามว่ามีไกด์ภาษาไทยมั้ย เท่านั้นแหละค่ะ วงแตกไม่มีใครมาตื้อเราอีกเลย
จากจุดขายตั๋วต้องเดินค่อนข้างไกลเลยค่ะกว่าจะเข้ามาถึงด้านใน
เมื่อมาถึงด้านในเราก็ต้องมายืน งง ว่าจะไปซ้ายหรือขวาดีก็มันใหญ่และโคตรกว้างเลย
“วนขวาสิ” เสียงใครสักคนที่เราเดาว่าคือนักท่องเที่ยวอินเดียที่ตะโกนบอกเรา
เราเดินต่อมาด้านในเรื่อยๆ ตามนักท่องเที่ยวคนอื่นๆมา
ตั้งแต่วันแรกจนวันนี้นักท่องเที่ยวที่เราเจอส่วนใหญ่คือคนอินเดียเอง มีตะวันตกบ้างเล็กน้อย ส่วนคนไทยนั้นเรายังไม่เจอเลยค่ะ
แทบจะทุกมุมจากป้อมอักรา เราสามารถมองเห็นทัชมาฮาล
และสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่สุดท้ายที่กษัตริย์ชาห์ชะฮาน (กษัตริย์ที่ทรงสร้างทัชมาฮาล) ถูกโอรสของตนเองจับมาขังไว้ แต่ถึงอย่างไรก็ตามกษัตริย์ชาห์ชะฮานก็ยังคงเฝ้ามองทัชมาฮาลทุกวันแม้วินาทีสุดท้ายของลมหายใจ
เห้อออออออออ ตอนได้ฟังเรื่องนี้เราก็รับรู้สึกความรักที่กษัตริย์ชาห์ชะฮานทรงมีต่อหญิงที่ตนรักแล้วนะ แต่เมื่อได้มาเห็นของจริงบอกตรงๆว่าความรู้สึกที่สัมผัสได้เมื่อเรามองไปยังทัชมาฮาล มันช่างรู้สึกถึงความรักที่เศร้าปนทรมานหัวใจยังไงไม่รู้
และมันคือความรู้สึกดีและความภาคภูมิใจทุกครั้งที่เราพาตัวเองมาอยู่ในประวัติศาสตร์ของโลกอีกแห่งหนึ่ง
ภายในป้อมอักรามีพื้นที่กว้างมากเลยทีเดียววค่ะ แถมศิลปะภายในยังสวยไม่แพ้ที่อื่นเลยค่ะ
มาอักรานี่คุ้มค่ากับการเดินทางมาเที่ยวมากจริงๆ
ตลอดการเดินทางที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่เราเจอคนอินเดียน่ารักๆมาตลอด และอีกอย่างที่เราเชื่อว่าคนชอบถ่ายรูปแบบเราต้องหลงรักอินเดีย เพราะว่าคนอินเดียส่วนใหญ่สู้กล้องมากๆ
ตลาดอินเดีย
“พวกคุณอยากซื้ออะไรที่ตลาด Kinari ครับ”
“ไม่มีค่ะ แค่อยากถ่ายรูปเฉยๆ”
“ที่นั้นไม่มีอะไรสวยเลยนะครับ”
“มีสิค่ะ”
“งั้นตามใจครับ จำไว้ให้ดีตลาดนี้คนเยอะมาก เอากระเป๋ามาไว้ข้างหน้านะครับ ระวังเวลาที่มีคนมาเบียด ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นให้รีบโทรหาผมทันที ผมจะรีบไปหาพวกคุณ โอเคมั้ย”
“โอเคค่ะ”
“ผมจะรออยู่ที่รถนะ พวกคุณจะเดินเล่นนานแค่ไหนก็ตามใจเลย”
“โอเคค่ะ ขอบคุณนะคะ”
อีกเหตุผลที่ทำให้เราอยากเดินทางมาอินเดียก็เพราะเราอยากถ่ายรูปวิถีชีวิตคนอินเดีย แล้วการที่เราอยากได้รูปวิถีชีวิตของผู้คนได้ดีนั้น เราควรมาตลาด
ตลาด Kinari เป็นตลาดที่คนอินเดียในอักรานิยมมาซื้อผ้าหรือชุดสาหรี่ และในตลาดเราไม่เจอนักท่องเที่ยวคนอื่นๆเลยที่นั้นมีแต่คนท้องถิ่น ดังนั้นตลาด Kinari จึงเป็นสวรรค์ของคนที่ชอบถ่ายรูปแนว street แน่นอน
อินเดียกับการตลาด
“พวกคุณยังอยากจะไปไหนอีกมั้ย”
“ไม่มีค่ะ”
“งั้นผมขอพาพวกคุณไปร้านขายของที่ระลึกที่ดีที่สุดร้านหนึ่งของอักราเลยครับ”
เอาาาาาาาาาแล้วหลอกกูไปเชือดแน่นอน ก่อนมาอินเดียใครๆก็บอกว่าให้ระวังอินเดียหลอกขายของนะ
ร้านแรกที่พี่คนขับรถพาเรามา เป็นร้านขายผ้า อัญมนีราคาแพงๆ ซึ่งเข้ามาในร้านแล้วเจ้าของร้านไม่อนุญาติให้เราถ่ายรูป เพราะบอกว่างานเป็นลิขสิทธิ์นะ
การเข้ามาในร้านขายของอินเดียนั้น อย่าหวังว่าคุณจะรอดมาได้ด้วยการไม่เสียเงินให้ร้านนั้นๆเลย มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยค่ะ ไม่ใช่ว่าของมันสวยมาก หรือ ราคาถูกขนาดไหน แต่เมื่อเราก้าวเท้าเข้าไปแล้วถ้าเราไม่ซื้อสักชิ้น ไม่มีทางที่บุคคลในร้านเหล่านั้นจะปล่อยเราออกมา
เราโชคดีที่เพื่อนตั้งใจจะซื้อผ้าอยู่แล้ว พวกเราก็เลยสามารถเอาตัวเองออกมาจากร้านของที่ระลึกแห่งนั้นได้
“ได้อะไรกันมั้ยครับ”
“ได้ผ้าไปฝากแม่ค่ะ” เพื่อนเรารีบตอบเพื่อจบบทสนทนา เพราะตอนนั้นรู้สึกเซ็งๆที่ต้องมาโดนบังคับให้ไปร้านของที่ระลึกแล้วมาบังคับซื้ออีก
“งั้นผมพาไปอีกร้านนะครับ ร้านนี้พวกคุณต้องชอบแน่ๆ”
เอ่าาาาา ยังไม่จบอีกหรอว้ะนี่
ร้านนี้เป็นร้านที่มีของที่ระลึกราคาย่อมเยาว์ ซึ่งคุณพี่คนขายอัธยาศัยดีแบบฉบับของแม่ค้าขายเก่ง จนขนาดตัวเรายังสนุกในการเดินดูของในร้านแห่งนี้ไปด้วย
พวกเราต่อราคากันจนได้ราคาที่พอใจที่จะจ่ายเงินเพื่อของที่ต้องการออกไป ของที่อินเดียแนะนำว่าให้ต่อราคาให้มากๆๆเลยค่ะ แล้วก็ยืนยันราคาที่เราต่อ ถ้าไม่ได้ราคานั้นให้เดินออกมา รับรองเดี๋ยวแม่ค้าเหล่านั้นก็จะเรียกคุณกลับมาเอง
ร้านขายของที่ระลึกที่อินเดีย ไม่ใช่ทุกร้านที่จะมาบังคับขายและบังคับซื้อเราเสมอไป ยังมีอีกหลายๆร้าน ที่เราซื้อแบบสบาย ซื้อเพราะคนขายพูดจาน่ารัก
“พรุ่งนี้ผมมารับตี 5 ครึ่งนะครับ”
“โอเคค่ะ”
“พวกคุณเอาของมาให้น้อยที่สุดนะ ห้ามขาตั้งกล้อง ปากกา ของกิน ลูกอม ทุกอย่างเลยนะครับ”
“รับทราบ”
“พรุ่งนี้เจอกันนะ”
Day 4
Taj Mahal
“มอนิ่งครับ”
“มอนิ่งค้าาาาา”
“พี่จะพาเราไปประตูข้างโรงแรมใช่มั้ยค่ะ”
“ไม่ใช่ครับ ประตูใกล้ (East Gate) โรงแรมพวกคุณนักท่องเที่ยวเยอะครับ ต้องรอแถวนาน”
“งั้นเราจะไปประตูไหนค่ะ”
” West Gate ครับ เป็นประตูที่คนท้องถิ่นใช้ครับ ไม่ต้องรอแถว คนน้อยครับ”
“โอเคค่ะ”
“ถ้าพวกคุณจะกลับโทรมาก่อนสักหน่อยนะครับ แล้วผมจะมารับที่เดิมนะ”
“โอเคค่ะ”
Taj Mahal
ค่าตั๋วเข้า 530 รูปี แสดงพาสปอร์ตไทยเหมือนเดิมนะคะ
ซึ่งราคาที่เราจ่ายนั้นจะได้รับน้ำดื่มหนึ่งขวดและถุงเท้าสำหรับไว้หุ้มรองเท้าหนึ่งคู่
แนะนำเข้าประตูฝั่ง West ไม่มีคิวเลยค่ะ โล่งมาก ตรวจกระเป๋าใช้เวลาน้อยมากด้วยค่ะ
ควรมาตั้งแต่เช้าและเลือกมาวันธรรมดาจะเที่ยวสบายมาก
“พวกคุณมีไกด์รึยังครับ”
“เราไม่ต้องการไกด์ ขอบคุณค่ะ”
“ถ้าพวกคุณไม่มีไกด์ พวกคุณก็เหมือนไม่ได้ชมทัชมาฮาลหรอกครับ เหมือนพวกคุณเข้าไปดูแท่งหินสีขาวมากกว่า”
โห่ !!! อิตานี่ พูดแทงใจดำเจ็บจี๊ดดดดดดดดดด
เรากับเพื่อนมองหน้ากัน แล้วเพื่อนเราก็ตัดสินใจว่าจ้างไกด์ก็ได้ว้ะ ชีวิตนี้ไม่รู้จะมาอีกเมื่อไหร่
“คุณคิดราคาเท่าไหร่”
“1500 รูปีครับ ผมเป็นไกด์ถูกกฎหมายของที่นี่นะครับ”
“800 รูปีละกันนะคะ”
“ไม่ได้หรอกครับ ราคานี้คือราคาปกติของไกด์ถูกกฎหมายนะครับ”
“งั้นไม่เอาค่ะ”
” 1000 รูปนะครับ”
เราต่อรองกันอยู่นานแล้วในที่สุดราคาไกด์ของเราก็จบลงที่ 1000 รูปี
จริงๆถ้าใครอ่านข้อมูลเกี่ยวกับประวัติทัชมาฮาลมาแน่น ไม่ต้องใช้ไกด์ก็ได้ค่ะ แต่เรานั้นประเภทไม่ค่อยทำการบ้าน เลยต้องจ่ายเงินเพื่อแลกความรู้กันไปตามระเบียบ
เรามาถึงทัชมาฮาลเช้ามากประมาณ 6 โมงเช้าและเป็นวันธรรมดา ผู้คนบางตามากค่ะ
Taj Mahal เป็นสถานที่ในฝันของเรามาตั้งแต่เด็ก เป็นสถานที่แรกที่ทำให้เราอยากมาอินเดีย เราฝันมาตลอดว่าชีวิตนี้ต้องมาเห็นอนุสรณ์สถานเกี่ยวกับความรักแห่งนี้ด้วยตาตัวเองให้ได้
ตอนนี้เราไม่สามารถอธิบายความรู้สึกของตัวเองที่กำลังยืนมอง Taj Mahal ด้วยตาของตัวเอง เราไม่รู้จะอธิบายถึงความยิ่งใหญ่ของสิ่งก่อสร้างแห่งนี้ได้อย่างไร ไม่รู้จะอธิบายความรู้สึกที่รับรู้ได้ว่าผู้ชายที่สร้างอนุสรณ์สร้างแห่งนี้ให้หญิงคนรักเป็นสิ่งสุดท้ายในชีวิตของเธอนั้นได้อย่างไร
เรารู้สึกแค่ว่ามันคุ้มค่ากับความฝันและการเดินทางมาสักครึ่งหนึ่งในชีวิต
ทัชมาฮาลสวยมากจริงๆค่ะ สวยจนเรารู้สึกว่าคำอธิบายใดๆจากเรามันคงไม่คู่ควรเหลือเกิน ทัชมาฮาลยิ่งใหญ่ สวยงามมากจริงๆค่ะ ไม่น่าเชื่อว่าจะสร้างด้วยมนุษย์ในยุคที่ไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกเท่าทุกวันนี้
ถึงแม้เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการสร้างสถานที่แห่งนี้จะจบไปนานแล้ว แต่เราเชื่อว่าทุกคนที่มาเยือนทัชมาฮาลยังสัมผัสได้ถึงความรักปนความเศร้าอย่างบอกไม่ถูกอบอวลอยู่ในสถานที่แห่งนี้ตราบนานเท่านาน
เราฟังไกด์เล่าประวัติความเป็นมาต่างๆที่ทำให้กษัตริย์ชาห์ชะฮาน สร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้ เราบอกได้คำเดียวว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตควรเดินทางมาเห็นด้วยตาตัวเองให้ได้
Taj Mahal ถูกสร้างขึ้นโดยกษัตริย์ชาห์ชะฮาน กษัตริย์แห่งราชวงศ์โมกุล เป็นผู้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุศพของมเหสีสุดที่รัก ชื่อ มุมทัชมาฮาล ซึ่งก่อนสิ้นพระชนม์พระองค์ขอให้พระสวามีสร้างสิ่งที่จะทำให้ทั้งโลกต้องพิศวง ด้วยความรักของกษัตริย์ชาห์ชะฮานที่มีต่อนางจึงสร้างสถานแห่งนี้ขึ้นมา โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างทั้งหมด 22 ปี
และในตอนปลายของชีวิตกษัตริย์ชาฟ์ชะฮาน ได้ถูกบุตรชายของตนเองยึดอำนาจเพราะพระองค์มีพระประสงค์ที่จะสร้างอนุสรณ์สถานอีกแห่งด้วยหินอ่อนสีดำไว้เป็นที่ฝั่งพระศพของตนเอง แต่ด้วยบุตรชายของพระองค์ให้เหตุผลว่าพระองค์ใช้งบประมาณของแผ่นดินมากจนเดินไปจึงยึดอำนาจและนำพระองค์ไปขังไว้ที่ป้อมอักรา ซึ่งพระองค์ก็ยังเฝ้าดูทัชมาฮาลทุกวันจวบจนวินาทีสุดท้ายของชีวิตที่ต้องอยู่ในคุก พระองค์ก็ถือกระจกเงาไว้ในมือเพื่อส่องให้เห็นทัชมาฮาล
เป็นความโชคดีของเราที่เลือกมาวันธรรมดา วันนี้นักท่องเที่ยวบางตามากๆค่ะ อยากจะถ่ายรูปตรงไหนมุมไหน ตามสบายเลยจ้าาาา
เราถ่ายรูปเล่นจนพอใจ ไกด์ขอเราบอกจะพาไปถ่ายรูปจุดเดียวกับที่บุคคลสำหรับของโลกนั่งมาแล้ว
บอกตามตรงอยู่จุดนี้คือเกร็งมากกกกกกกกกกกกกกก แต่วันนี้เราไปมีทัวร์คุณป้าจากจีนคอยส่งเสียงเชียร์อยู่ช่วยลดอาการเกร็งไปได้มาก
ด้านในของทัชมาฮาลปัจจุบันเป็นที่ฝังพระศพของมเหสี มุมทัชมาฮาล เคียงคู่อยู่กับพระศพกษัตริย์ชาห์ชะฮาน แต่จุดที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปนั้นเป็นแค่แท่นฝั่งพระศพจำลองเท่านั้น ส่วนแท่นที่บรรจุพระศพของจริงนั้นอยู่ด้านล่างของทัชมาฮาล
ยิ่งมองเข้าไปด้านในเห็นแท่นฝั่งพระศพจำลองสองแท่นที่อยู่เคียงคู่กัน ยิ่งทำให้มนุษย์ธรรมดาแบบเรารับรู้ว่าความรักนั้นสามารถทำให้มนุษย์ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้จริงๆ
เมื่อเราเข้าไปใกล้ตัวของทัชมาฮาลมันยิ่งทำให้เรารับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ ความพยาม ความทุ่มเทที่จะทำให้โลกพิศวงจริงๆ
วัสดุที่ใช้ก่อสร้าง
- หินอ่อน – จากชัยปุระ
- ศิลาแลง – จากฟาเตปุรริขรี
- เพชร – จากฟันนา
- พลอยสีฟ้า – จากธิเบต
- พลอยสีเขียว – จากอียิปต์
- หินสีฟ้า – จากคัมภัย
- โมรา – จากคัมภัย
- หินทราย – จากแบกแดด
- หินทองแดง – จากรัสเซีย
แต่เหรียญนั้นก็มีสองด้านเสมอ เพราะในความสวยงามและยิ่งใหญ่ของทัชมาฮาลนั้นต้องแลกมาด้วยอะไรหลายๆอย่าง ตั้งแต่ที่กษัตริย์ให้สถาปนิกออกแบบ รวมไปถึงช่างที่ทำสุสานหินอ่อนแห่งนี้ได้สวยงามวิจิตรขนาดนี้ แต่หลังจากที่ทำสำเร็จสถาปนิกและช่างเหล่านั้นจะต้องถูกฆ่าตาย เพราะกษัตริย์ชาห์ชะฮานไม่ต้องการให้พวกเขาเหล่านั้นไปสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่แบบนี้ที่ไหนอีก รวมไปถึงการใช้งบประมาณของแผ่นดินไปมหาศาลเพื่อสร้างสุสานแห่งนี้ ว่ากันว่าเป็นงบประมาณที่ทำให้ประเทศอินเดียหยุดพัฒนาไปถึง 250 ปี
แต่อย่างไรก็ตามตอนนี้โลกได้ตอบแทนกษัตริย์ชาห์ชะฮานและประเทศโดยให้สถานที่แห่งนี้เป็นมรดกโลก
ทัชมาฮาลมีเนื้อที่ประมาณ 42 เอเคอร์ เป็นที่ตั้งของมัสยิด มีหออาซาน (หอสูงสำหรับร้องแจ้งเวลาทำละหมาด) ตั้งอยู่ในสวนริมฝั่งแม่น้ำยมุนา
วันที่เรามา เราเจอนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่เยอะเท่าไหร่เมื่อเทียบจำนวนกับคนอินเดียเองที่เดินทางมายังสถานที่แห่งนี้
จริงๆไกด์ของเราในวันนี้ก็โอเคมากทีเดียวค่ะ เพราะเขาจะตามใจเราถ่ายรูปแต่ละจุดนานแค่ไหนก็ได้ ไม่เร่งไม่รีบ แถมรู้ว่ามุมไหนถ่ายออกมาถึงจะสวย ส่วนในเรื่องการบรรยายก็ถือว่าความรู้แน่นมากสมกับเป็นไกด์เลยค่ะ แต่เขามาตกม้าตายเอาตอนที่เรากำลังจะกลับ แล้วเขาก็บอกว่าพวกเราต้องไปแวะร้านของที่ระลึกนะ มันดีมาก โน้น นี่ นั้น เพื่อที่จะให้เราซื้อของที่ระลึกแล้วตัวเขาเองจะได้ส่วนแบ่งจากตรงนั้น
แต่โดยรวมเขาก็โอเคค่ะ เพราะสุดท้ายพวกเราก็ตัดสินใจซื้อของที่ระลึกในร้านนั้นมาคนละชิ้นจริงๆ เห้อออออออออออ ใจง่ายตลอดดดดดดดดด
เดินทางอีกครั้ง
กลับมาจากทัชมาฮาล เราเข้ามาเก็บของที่โรงแรมพร้อมกับนัดคนขับรถเอาไว้วันนี้เราจะเดินทางออกจากอักราประมาณ 10 โมง เพื่อไม่ให้ไปถึงจัยปูร์เย็นเกินไป
ซึ่งตอนแรกเราเข้าใจว่าการเดินทางครั้งนี้พี่คนขับของเราจะเป็นคนพาเราไปเอง แต่ป่าวค่ะ เขาให้เพื่อนของเขาทำหน้าที่ขับรถไปแทนประมาณว่าจ้างเพื่อนคนนี้ในส่วนของเส้นทางที่เหลือ
และจุดหมายก่อนที่เราจะไปจัยปูร์คือ ฟเตหปุระสีกรี (Fatehpur Sikri) ซึ่งอยู่ระหว่างทางไปยังจัยปูร์พอดี เราเลยอยากเที่ยวให้ครบถึงแม้จะไม่ได้ตื่นเต้นอะไรกับที่นี่มากมายนัก
ถึงอินเดียอย่างแท้จริง
เราเดินทางออกจากอักราใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงก็มาถึง ฟเตหปุระสีกรี คนขับรถคนใหม่ที่พูดน้อย แล้วก็พูดภาษาอังกฤษได้น้อย แถมเราไม่รู้ว่าเขาชื่ออะไรด้วย
คนขับรถเข้ามาส่งเราพร้อมบอกว่าจะรออยู่ที่รถนะ หลังจากนั้นพวกเราก็เดินเข้าไปอย่าง งงๆ
“สวัสดีครับ มีไกด์รึยังครับ”
“ไม่มีค่ะและก็ไม่เป็นไรด้วย”
“ด้านในใหญ่มากนะครับ พวกคุณเดินเองไม่ง่ายนะครับ”
เราสามคนหันมามองหน้ากันแบบเอาอีกแล้วนะ
“ค่าไกด์ราคาเท่าไรค่ะ”
“พวกคุณมีเวลากี่ชั่วโมงครับ”
“ประมาณ 2 ชั่วโมงค่ะ”
“งั้นค่าไกด์ 100 รูปีครับ”
เรางั้นมองหน้าเพื่อนอีกครั้งเพราะราคา 100 รูปี คือมันถูกมากเลยนะ
“โอเค พวกเราให้คุณเป็นไกด์”
“ขอบคุณครับ”
หลังจากที่เราตกลงราคากับไกด์เรียบร้อย ก็เดินต่อมาอีกนิดเพื่อขึ้นบัสที่คอยให้บริการนักท่องเที่ยวอยู่แต่ไม่ได้ฟรีนะคะ ไกด์เป็นคนจัดการให้เรา
“ผมจ่ายให้พวกคุณเองครับ” ไกด์ของเราบอก
เรานั่งรถมาไม่นานก็ถึงด้านหน้าของฟเตหปุระสีกรี แต่การจะเข้าไปด้านในได้นั้นจะต้องถอดรองเท้านะคะ แล้วไกด์ของเราก็จัดเองเอารองเท้าไปฝากให้ พร้อมกับให้พวกเราแต่ละคนใส่รองสลีปเปอร์คู่เก่าแทนรองเท้า
“เรายังไม่ได้ซื้อตั๋วค่าเข้าเลย”
“ไม่ต้องครับ ผมจัดการให้พวกคุณเรียบร้อยแล้ว”
เรารพยักหน้ารับรู้ แต่ในใจก็คิดว่าอิตานี่ไปซื้อตั๋วตอนไหนว้ะ เราเดินเข้ามาด้านในก็ไม่เจอคนที่คอยมาตรวจตั๋วขาเข้าเลย
ภายในฟเตหปุระสีกรี มีขนาดกว้างมากกกกกกก ที่นี่คือมัสยิดขนาดใหญ่มีที่สำหรับทำละหมาด และที่นี่ยังเคยเป็นสุสานของชาวมุสลิมในสมัยก่อนอีกด้วย
เราเข้ามาด้านในสังเกตว่าที่นี่มีคนอินเดียที่นับถือศาสนาอิสลามมาอาศัยหลับนอนที่นี่อยู่เป็นจำนวนมาก
“มึงกูว่าเราคิดถูกนะที่จ้างไกด์ ที่นี่มาเองน่าจะเที่ยวกันไม่ได้ว้ะ คนเร่รอนและขอทานเยอะขนาดนี้”
“เออนั้นสิดีนะที่เรามีไกด์”
เราไม่อยากจะจินตานาการว่าถ้าเราเข้ามาใน ฟเตหปุระสีกรี โดยที่ไม่มีไกด์จะเป็นยังไง เพราะตอนนี้ระหว่างทางที่เรากำลังเดิน เราโดนสายตาของผู้ชายอินเดียคุกคามอยู่ตลอดเวลา โชคดีที่มีไกด์บุคคลเหล่านั้นเลยไม่เข้ามายุ่งกับเราเท่าไร เพราะเมื่อมีคนเข้ามาไกด์จะไล่ออกไปทันที
ไกด์พาเราเดินดูความยิ่งใหญ่ของสถาปัตย์แห่งนี้ ฟเตหปุระสีกรี สร้างขึ้นในสมัยที่อินเดียมีกษัตริย์นับถือศาสนาอิสลาม ทำให้เราสังเกตว่าสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่ของอักราที่มีให้เราได้เยี่ยมชมในทุกวันนี้ เกิดขึ้นมาในสมัยที่กษัตริย์นับถือศาสนาอิสลามทั้งนั้น
จากนั้นไกด์ก็พาเราเดินไปดูหลุมฝังศพตั้งแต่สมัยเมื่อนานมาแล้ว ที่นี่เป็นทั้งมัสยิดและสุสานในเวลาเดียวกัน
ปัจจุบันภายในฟเตหปุระสีกรี ก็ยังมีประชาชนอินเดียที่นับถือศาสนาอิสลามมาใช้สถานที่แห่งนี้สวดมนต์ (ทำละหมาด) เพื่อระลึกถึงพระผู้เป็นเจ้าอยู่ทุกวัน ไกด์เล่าเราต่อว่า สถานที่แห่งนี้จะเต็มไปด้วยพี่น้องชาวมุสลิมในวันฮารีรายอ อีดิลฟิตรี ซึ่งคือวันที่ชาวมุสลิมในทั่วโลกจะทำการละหมาดพร้อมกันหลังจบช่วงการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน
ไกด์พาเราไปยังสถานที่ๆเหมือนการขอพรออะไรสักอย่าง พร้อมให้เราบริจาคเงิน แต่เท่าที่รู้ศาสนาอิสลามไม่ได้มีการขอพรจากวัตถุแต่มีการขอพรจากพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น เราเข้าไปด้านในด้วยเพราะศิลปะและความปรานีตในงานก่อสร้างที่สวยงาม
เราใช้เวลาในอยู่ในฟเตหปุระสีกรีร่วมๆ 2 ชั่วโมง ทั้งร้อนและเหนื่อย แถมเราจะต้องเดินทางต่อไปให้ถึงจัยปูร์ก่อนค่ำด้วยสิ
“พวกคุณจะกลับแล้วหรอครับ”
“ใช่ค่ะ เรามีเวลาแค่นี้ เราต้องเดินต่ออีก”
“โอเคครับ งั้นเราไปนั่งรอบัสนะ เขาจะออกเมื่อรถเต็มกลับไปส่งยังจุดที่เราเจอกันตอนแรก”
“โอเคค่ะ”
เราเดินมานั่งอยู่ด้านบนของบัสเพื่อรอนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ
“พวกคุณหิวน้ำมั้ย”
“มากกกกกกกกกกกกกกกกกก”
“งั้นเดี๋ยวผมไปซื้อน้ำให้นะครับ”
“นี่ค่ะ เงินซื้อน้ำ”
“ไม่ต้องครับ ผมจ่ายให้ก่อน”
ไกด์หายไปหลายนาทีเพื่อซื้อน้ำมาให้พวกเรา ระหว่างนั้นเราก็สังเกตเห็นว่าที่มีนักท่องเที่ยวจากชาติตะวันตกมาเยอะพอสมควรเลย แต่ทุกคนแยกไปอีกอาคารกับที่เราไปมา เลยถามไกด์ว่าที่นั้นมีอะไร ไกด์บอกว่าคล้ายๆกับที่เราไปมา แต่ที่นี่มันกว้างพวกคุณมีเวลาน้อย เลยต้องเลือกเอา
“พี่สาวครับ ขอเงินหน่อยครับ”
ระหว่างที่เรานั่งรถรอนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ อยู่บนบัส ก็มีเด็กผู้ชายคนนึงตะโกนมาจากด้านข้างของรถ เราได้แต่ปฏิเสธไปถึงในใจอยากจะให้ก็ตาม แต่นั้นแหละค่ะ ถ้าเราให้คนนี้ เดี๋ยวจะต้องมีตามมาอีกเป็น 10 คนแน่นอน เด็กผู้ชายคนนี้เป็นเด็กอินเดียคนที่สองที่เราเจอในทริปนี้ที่เข้ามาของเงิน คนแรกคือเด็กผู้หญิงที่จ๊อดปูร์ตอนที่เราจะกลับ เราไม่ได้เงินไป แต่ให้ขนมไปแทน เด็กคนนั้นทำหน้าไม่พอใจแต่ก็ยอมรับขนมไปโดยดี
เรานั่งคุยกับเพื่อนว่าเดี๋ยวตอนจ่ายเงินให้ทิปไกด์ด้วย เพราะเขาดูแลเราดีนะ ถ้าไม่มีไกด์ที่นี่ค่อนข้างน่ากลัวสำหรับผู้หญิงต่างชาติแบบเราเลย
ในที่สุดบัสก็เต็ม แล้วรถก็ออกทันทีไม่นานรถก็มาส่งนักท่องเที่ยวและรอรับนักท่องเที่ยวกลุ่มต่อไป
“งานของผมเสร็จแล้วนะครับ”
“เราต้องจ่ายเงินให้คุณเท่าไรค่ะ”
“ทั้งหมดเบ็ดเสร็จ 2000 รูปีครับ”
“ฮะ !!! อะไรนะ 2000 รูปีจากไหนว้ะ”
เราตะโกนออกไปอย่างตกใจ เพราะไม่เข้าใจว่าราคานี้มาได้ยังไง
“ก็ ค่าไกด์ 100 รูปี ค่าเข้าสถานที่พวกคุณเป็นต่างชาติ 500 รูปี ค่าน้ำดื่ม + ค่าบัส + ค่าฝากรองเท้าครับ”
“เห้ยยยยย มันไม่ใช่ละ” เราตะโกนด้วยความไม่พอใจ จนไกด์อินเดียคนนั้นยังตกใจ
“นายจะมาคิดราคานี้ไม่ได้นะ เราเป็นต่างชาติก็จริงแต่เราเป็นคนไทย ใช้พาสปอร์ตไทยตั๋วที่นี่ก็ราคาเท่าคนอินเดีย”
“พวกคุณเป็นคนไทยหรอ”
“ใช่ !!!!”
“ผมไม่รู้”
“นายไม่ได้ถามเราตอนซื้อตั๋ว แต่เดี๋ยวนะฉันยังไม่เห็นนายไปซื้อตั๋วตอนไหนเลย”
ไกด์อินเดียเริ่มหน้าซีดที่เราจับทางถูก
“แล้วต่างชาติก็ไม่ได้จ่ายคนละ 500 รูปี ราคามันแค่ 300รูปี อย่าคิดว่าฉันไม่รู้นะ”
“งั้นพวกคุณไม่จ่ายให้ผมก็ได้ครับ”
ไกด์หนุ่มคนนั้นเลยหน้าถอดสีเรื่อยๆ เมื่อเจอผู้หญิงไทยไม่ยอมใครแบบเรา
เราปรึกษากับเพื่อนแล้วก็สรุปว่าเราจะจ่ายให้แค่ 1000 รูปีเท่านั้น คือค่าไกด์กับค่าเข้าสถานที่แบบชาวต่างชาติคนอื่นๆ
เราเอาเงินให้ไกด์คนนั้นแล้วเดินกลับมาที่รถด้วยความเซ็ง เที่ยวอินเดียมา 4 วัน เจอคนดีๆมาทุกวันจนทำให้เราเผลอไว้ใจอินเดียมากจนโดนแขกหลอกจนได้
นี่แหละหน่าาาาที่ใครๆบอกว่า “ถ้าเจอแขกกับงูพร้อมกัน ให้ตีแขกก่อน”
ในระหว่างที่เซ็งก็ได้แต่บอกตัวเองว่า ช่างมันเถอะ ไม่โดนแขกหลอก ถือว่าไม่ถึงอินเดีย
เมื่อเรากลับจากทริปอินเดีย เรามานั่งหาข้อมูลเกี่ยวกับฟเตหปุระสีกรี ถึงได้รู้ว่าสถานที่ต้องซื้อตั๋วเข้าไปนั้น มันไม่ใช่ที่เราไปมา แต่มันคือด้านข้างๆกันที่เราเห็นว่านักท่องเที่ยวชาติตะวันตกเดินเข้าไปในนั้นต่างหาก ส่วนที่เราไปมานั้นไม่ต้องจ่ายค่าเข้า นี่เราโดนอินเดียต้มจนเปื่อยเลย โว่ยยยยยยยยยยยยย
หวาดระแวง
ตอนนี้เรานั่งอยู่บนเบาะหน้าข้างคนขับภายในรถเก๋งเก่าๆ ที่กำลังพาเรามุ่งหน้าไปยังจัยปูร์ เราเปิด Google Map เพื่อดูระยะทางและระยะเวลากว่าที่จะเดินทางไปถึงจัยปูร์ว่าอีกไกลแค่ไหน
“พวกมึงอีกประมาณ 3 ชั่วโมงนะ เราจะถึงจัยปูร์”
เราบอกเพื่อนอีกสองคนที่นั่งอยู่บนเบาะหลัง
ระหว่างทางไปยังจัยปูร์ไม่มีวิวให้เราได้ดูมาก นอกจากความแห้งแล้งของฤดูร้อนในอินเดีย เรารับหน้าที่นั่งเบาะหน้าใกล้คนขับ เลยมีหน้าที่ห้ามหลับด้วยเพราะบอกตามตรงว่า คนขับคนนี้มีท่าทางแปลกๆยังไงไม่รู้ แต่เมื่อเดินทางไปสักระยะนึง เราสังเกตเห็นว่าคนขับรถคนนี้แอบมองเราตลอดเวลา ซึ่งไม่ใช่แค่เราเพราะเพื่อนที่อยู่เบาะหลังบอกว่า ทุกครั้งที่ตื่นมาก็เห็นว่าคนขับรถกำลังมองเราอยู่
เอาจริงๆตอนนั้นเริ่มรู้ตัวแล้วว่า ห้ามหลับเด็ดขาด แล้วเริ่มคิดต่อไปว่า ถ้าเกิดอะไรขึ้นจะต้องโทรหาสถานทูตไทยแห่งไหนในอินเดียว้ะเนี่ย ซึ่งตอนนั้นโชคดีที่เราเช่า Pocket Wifi ไป เราเลยมีอินเทอร์เน็ตใช้ตลอดเวลา เราไม่ได้มองโลกในแง่ร้าย แต่ข่าวผู้หญิงโดนชายอินเดียข่มขืนมันมีเข้าหูมาบ่อยจริงๆ
“พวกคุณจะแวะกินข้าวมั้ยครับ”
“ไม่ค่ะ เราไม่หิว คุณมุ่งหน้าสู่จัยปูร์เลยนะ”
คนขับรถถามพวกเราหลายครั้งว่าจะแวะทานข้าวมั้ย เราได้แต่ปฏิเสธเพราะตอนนี้อยากถึงจัยปูร์เต็มที ตอนนั้นเราคิดบางอย่างออกเลยแชทไปหาเพื่อนชาวอินเดีย แต่เขาไม่ได้อยู่ในเมืองใกล้ๆนี่หรอก เราพิมบอกว่าเราอยู่อินเดียนะ ตอนนี้กำลังมุ่งหน้าไปจัยปูร์นะ เราตั้งใจพิมพ์ข้อความคุยกับเพื่อนชาวอินเดียเพื่อให้คนขับรถที่แอบอ่านข้อความ(ภาษาอังกฤษ)ของเรา ได้รับรู้ว่าเรามีคนรู้จักในอินเดียนะ อย่าคิดอะไรไม่ดีกับฉันเด็ดขาด
ระหว่างที่เดินทางคนขับคนนี้รับสายโทรศัพท์รวมถึงวิดีโอคอลกับเพื่อนชาวอินเดียหลายครั้ง มีประมาณ 1-2 ครั้งที่หันกล้องโทรศัพท์เพื่อให้เพื่อนของเขาเห็นหน้าเราด้วย ถึงแม้พวกเขาจะพวกเขาจะคุยกันเป็นภาษาอินเดีย แต่ด้วยสัญชาติญาณ เรารับรู้ว่ากำลังคุยถึงเรา ณ ตอนนั้นในรถไม่มีใครหลับอีก
พวกเราเลือกที่จะแสดงให้คนขับรู้ว่า พวกเรารู้นะว่าเขาคิดไม่ดีกับเรา และมันก็ได้ผลเพราะเขาเริ่มไม่แอบมองเรามากเหมือนตอนแรก ตอนนี้เราทุกคนได้แต่ภาวนาให้ถึงจัยปูร์เร็วๆๆ
“อีกประมาณ 20 นาที เราจะถึงจัยปูร์แล้ว”
“เอออถึงซะทีเหอะ หวาดระแวงตลอดเวลาเลยตอนนี้”
ในที่สุดคนขับก็มาส่งพวกเราที่หน้าโรงแรมที่เราจองไว้ เราจ่ายเงินส่วนที่เหลือที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่วันแรกที่มาถึงอักรา แล้วรีบเดินจากไปทันที
ด้วยประสบการณ์ครั้งนี้ของเราที่เป็นผู้หญิงเดินทางกันเอง อยากจะบอกทุกคนที่เดินทางว่าให้มีสติตลอดเวลา และโปรดสังเกตคนรอบตัวเราในทุกครั้งที่เดินทางให้ดีๆ สิ่งสุดท้ายเมื่อเดินทางไปยังประเทศไหนเมืองไหน ก็ให้เม็มเบอร์ของสถานทูตไทยประจำเมืองนั้นๆไว้ด้วย เพราะบางครั้งเราอาจจะต้องใช้มัน
โดนเท
ในจัยปูร์มีที่พักแบบโฮสเทลจำนวนมาก เราเลยเลือกที่จะพักแบบโฮสเทล เราจองที่พักชื่อ Zostel Jaipur House โฮสเทลที่มีสาขากระจายอยู่หลายเมืองในอินเดีย ด้วยเพราะเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว ได้คะแนนรีวิวสูง และราคาไม่แพง
Zostel Jaipur House อยู่ในย่านใจกลางเมืองของจัยปูร์ทางเข้าอยู่ทางเดียวกับสถานีตำรวจท่องเที่ยว เราเดินเข้าไปด้วยความ งงๆ
“มึงทำไม ไม่มีคนเลยว้ะ” เพื่อนเราถามระหว่างเดินเข้าไปพร้อมกัน เพราะตอนนี้ภายในโฮสเทลที่เราจะเข้าพักกลับมีสภาพที่ไม่สามารถพักได้ เพราะตอนนี้ภายในมีการก่อสร้างใหม่เกือบทั้งหมด
“ขอโทษนะครับ พวกคุณจองที่พักมาใช่มั้ย”
“ใช่ค่ะ”
“ต้องขอโทษด้วยนะครับ ตอนนี้เราปิดปรับปรุงไม่สามารถให้พวกคุณเข้าพักได้”
“เอ้าาาาา ทำไมคุณไม่แจ้งเราก่อนที่เราจะมาล่ะ แล้วคราวนี้เราจะไปพักที่ไหน”
“ฝั่งตรงข้ามเรามีที่พัก ราคาไม่แพงครับปลอดภัยดี พวกคุณลองไปดูนะ”
หลังจากที่เจ้าหน้าที่โฮสเทลที่เราเดินเข้ามาพร้อมพูดๆๆๆ แล้วก็จากไป ทิ้งให้ผู้หญิงไทยสามคนยืน งง อยู่กลางถนน
“มึงงง เอาไงว้ะ” เพื่อนเราถามด้วยน้ำเสียงที่เป็นกังวล
“ใจเย็นนะ ไปดูโรงแรมฝั่งตรงข้ามที่ผู้ชายคนเมื่อกี้บอกก่อน”
ด้านตรงข้ามมีที่พักเล็กๆอยู่ เราเดินตรงเข้าไปด้านในก็เจอผู้ชายอินเดียตัวเล็กๆนั่งอยู่ที่เคาท์เตอร์
“มีห้องว่างมั้ยค่ะ”
“มีครับ”
“ราคาเท่าไรค่ะ”
“พวกคุณจะพักกี่คืนครับ”
“คืนเดียวค่ะ”
“ราคา 800 รูปีครับ”
“ขอดูห้องหน่อยได้มั้ยค่ะ”
ชายอินเดียที่เราเดาว่าเขาคือสตาฟของที่นี่เดินนำเราขึ้นไปยังห้องพักที่อยู่ชั้นสอง ภายในห้องเป็นห้องขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ เตียงกว้างพอที่จะนอนกัน 3 คน ในห้องมีโซฟาตัวใหญ่อยู่ตรงมุมด้วย ส่วนห้องน้ำนั้นสะอาดสะอ้านดี แต่มีขนาดใหญ่กว่าห้องนอนซะอีก เราตกลงว่าจะพักที่นี่ แต่ขอนั่งพักเหนื่อยกันก่อนแล้วจะลงไปจ่ายเงินพร้อมกับแจ้งชื่อที่อยู่ตอนหลัง
“มึงเราจะพักที่นี่กันหรอ” เพื่อนเราถามด้วยน้ำเสียงที่ยังมีความกังวลอยู่
เพราะตัวห้องและตัวที่พักนั้นเมื่อเทียบกับราคาถือว่าดีทีเดียว แต่ย่านที่อยู่ในขณะนี้เต็มไปด้วยช่างก่อสร้าง ซึ่งคิดดูแล้วว่าอาจจะไม่ปลอดภัยเท่าไหร่สำหรับผู้หญิงสามคนแบบเรา ย่านนี้ในช่วงของไฮซีซั่นเราเดาว่าคงจะเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว แต่หน้าร้อนแบบนี้เหมือนใครๆก็จะปิดปรับปรุงกันหมด
“พวกมึงใจเย็นนะ ตอนนี้ก็ถือว่าดีกว่ายืนอยู่บนถนน ขอเวลาคิดแปปว่าจะเอาไงดี”
เรารีบบอกเพื่อนออกไป เพราะด้วยประสบการณ์การเดินทางของสมาชิกในทีมตอนนี้ เราคือคนที่เดินทางบ่อยที่สุด และมีการเดินทางของเราก็มักไม่ราบรื่นเสมอ จนทำให้เราไม่ตกใจเมื่อโดนเทแบบนี้
สุดท้ายเราได้ข้อสรุปว่าเราจะจองโรงแรมใหม่เพื่อความสบายใจของทุกคน
เงินแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง
“มึงแล้วเราจะบอกสตาฟของที่นี่ยังไงว้ะ เขาดูดีใจมากที่เราจะพัก และเราก็เปิดแอร์เขามาเกือบชั่วโมงละนะ” เพื่อนคนเดิมของเรายังคงสงสัยปนกังวลอยู่ในน้ำเสียง
“คุณค่ะ พวกเราต้องขอโทษด้วยนะคะ เราเปลี่ยนใจจะไปพักใกล้สนามบินแทนพรุ่งนี้เราจะต้องเดินทางกลับแล้ว ขอบคุณมากนะคะที่เปิดห้องพร้อมแอร์เย็นๆให้เราด้วย”
พวกเราสามคนเดินลงมาเพื่อบอกสตาฟที่พักแห่งนี้ แต่เราไม่ได้บอกเปลาๆหรอกค่ะ เราพูดพร้อมกับยื่นเงินจำนวน 200 รูปีให้ชายคนนั้นด้วย ชายคนนั้นทำหน้างงๆๆ แต่ก็รีบรับเงินจากมือเราไป เราใช้จังหวะที่เขากำลัง งง รีบเดินออกมาทันที
“หึ! อยู่อินเดียใช้เงินเคลียร์เดี๋ยวปัญหาก็จบ”
เราเรียก uber ให้ไปส่งยังโรงแรมแห่งใหม่ การเดินทางในจัยปูร์นั่นสะดวกสบาย เราสามารถเรียก uber ได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ต้องต่อรองราคา แถมคนขับ uber ทุกคนที่เราเจอสุภาพ ไม่มองด้วยสายตาคุกคาม
ระหว่างที่นั่ง Uber มายังโรงแรมใหม่ ทำให้เราต้องสังเกตจัยปูร์แบบชัดๆครั้งแรก แล้วก็ได้รู้ว่า หน้าร้อนแบบนี้ไม่ควรมาเลยยยยยยยยยยยยย เพราะเกือบทุกสิ่งอย่างในจัยปูร์กำลังปรับปรุงไปซะหมด
Fortune Select Metropolitan Jaipur
ด้วยความเซ็งที่โดนโฮสเทลเทมา คราวนี้เราเลือกโรงแรม 5 ดาวเลยค่ะ หึ !! ใช้เงินแก้ปัญหาไปค่ะ เราจองห้องพักแบบเพิ่มเตียงเสริม จำนวน 2 คืน ในราคาประมาณ 2500 บาท
โรงแรมนี้อยู่ในโซนนอกเมืองหน่อย แต่ด้วยเป็นโรงแรมใหญ่ติดกับห้าง (มีประตูสามารถทะลุห้างได้) ฝั่งตรงข้ามก็มีห้างและแมคโดนัลด์ด้วยนะ
Day 5
นนัสเต Jaipur
ตั้งแต่มาอินเดียเราพึ่งได้ยินคำว่า นมัสเต จากคนอินเดียก็ตอนมาพักโรงแรมที่นี่
เมื่อวานหลังจากทั้งเซ็งทั้งหงุดหงิด สุดท้ายเราเลยย้อมใจตัวเองและเพื่อนๆด้วยการจองที่พักเป็นโรงแรม 5 ดาว และเดินไปซื้อแมคโดนัลด์มากินในห้อง เพราะแถวนี้ไม่มีร้านอาหารอย่างอื่นเลยค่ะ
วันนี้เป็นวันแรกที่เราจะได้เริ่มทำความรู้จักจัยปูร์กันจริงๆซะที เราหาข้อมูลก่อนที่จะมาอินเดียเกี่ยวกับที่เที่ยวในจัยปูร์สรุปออกมาได้ว่า มีที่เที่ยว 4-5 แห่งที่เราอยากไป แต่เรามีเวลาน้อยอยู่ในจัยปูร์ 2 วันเต็มซึ่งคิดดูแล้วว่าเหลือเฟือแน่นอน
แพลนเที่ยววันนี้เป็นไปแบบหลวมๆ เราลงมาถามราคาแพ็คเกจเที่ยวของที่โรงแรมแต่ดูแล้วว่าราคาแพงไปหน่อย เลยคิดว่างั้นหาตุ๊กๆให้พาเราเที่ยวจัยปูร์ละกัน
เราออกมาหน้าโรงแรมขอให้พี่ยามที่ประตูโรงแรมช่วยเรียกตุ๊กๆให้หน่อย ซึ่งฝั่งตรงข้ามโรงแรมมีคิวตุ๊กๆ อยู่พอดี
เราตกลงให้พี่ตุ๊กๆพาเราเที่ยวในจัยปูร์หนึ่งวันราคา 600 รูปี โดยสถานที่แรกที่เราจะไปคือ Albert Hall
Albert Hall
ค่าเข้า 300 รูปี (เป็นอีกหนึ่งสถานที่ๆอยู่ใน Jaipur Pass) ด้านในเป็นพิพิธภัณฑ์ด้วยนะ
ส่วนเรานั้นไม่ได้เข้าไปด้านในอยากแวะถ่ายรูปเท่านั้น ด้านหน้า Albert Hall มีนกพิราบเยอะมากกกกก เพราะมีคนมาคอยโรยข้าวโพดไว้ให้เจ้านกเหล่านี้
จากนั้นคุณพี่คนขับตุ๊กๆ พาเรามายัง Amber Fort ป้อมขนาดใหญ่มากกกกกกกกกกกกกกกกกกก ของจัยปูร์ ซึ่งเราหาข้อมูลมาหลายคนบอกว่าให้ตุ๊กๆไปส่งด้านบนได้ หรือจะขี่ช้างก็มีบริการ แต่วันที่เราไปพี่ตุ๊กๆส่งเราด้านหน้าทางเข้าที่ต้องเดินขึ้นไปเอง แล้ววววเราก็ไม่เห็นช้างเลยสักกะตัววววววววววว
สัมผัสแรกและสัมผัสเดียวที่เรามีให้จัยปูร์คือ ร้อนมากกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกก เมืองอื่นๆที่ผ่านมาต้องยอมแพ้ให้จัยปูร์ไปเลยค่ะ อะไรมันจะร้อนขนาดนี้
การใช้สองขาของตัวเองเดินขึ้นไปยัง Amber Fort ตอนอากาศ 45 องศา เป็นการทรมานตัวเองที่โหดร้ายอย่างหนึ่ง
พวกเราเลือกซื้อแบบ Tourist Pass ราคาเหมา คนละ 1000 รูปี สามารถเข้าได้ทั้งหมด 7 แห่ง ภายในสองวัน
Amber Fort
ค่าเข้าราคา 500 รูปี แต่ใครมี Tourist Pass ก็สามารถเข้าได้เลย เปิด 8.00- 17.30 น.
วันนี้อากาศร้อนมากกกกกกกกกกกกกกกกกกกก
รีบเดินขึ้นไปด้านบนกันดีกว่าค่ะ อยู่กลางแดดนานๆอาจตายได้
(แนะนำว่าให้เดินขึ้นทางบันไดตามรูปนะคะ แล้วจะวนออกทางราบที่อยู่ติดกัน)
ขึ้นมาแล้วเราจะเจอกับลานกว้างๆที่มีประตูทางเข้าสวยงามมากกกกกกกกกกกกก เชื่อว่าใครที่เคยอ่านรีวิวเกี่ยวกับจัยปูร์ต้องคุ้นหน้ากับสถาปัตยกรรมแห่งนี้แน่นอน
ภายในลานแห่งนี้ไม่ได้มีแค่ซุ้มประตูสวยๆที่คนไทยนิยมถ่ายรูปเท่านั้นนะคะ มีศาลาที่ออกแบบมาสวยงามให้นั่งพัก แล้วก็ยังมีมุมต่างๆเราถ่ายรูปเพลินเลยค่ะ
วันนี้อากาศร้อนมากกกกกกกก แดดจ้ามากกกกกกก ภายในป้อมแห่งนี้เราไม่เจอคนที่มาเสนอตัวเป็นไกด์เลยนะ เที่ยวกันแบบสบายมาก ต่างชาติสามารถขอรับไกด์ออดิโอได้ด้วยนะ
ในที่สุดเราก็คุ้มค่ากับการอยากมาจัยปูร์มานานนนนน เราอยากมาเห็นศิลปะที่อยู่บนสถาปัตยกรรมต่างๆ มันคุ้มค่า ซุ้มประตูสวยมากกกกกกกก อินเดียนี่เขาทำงานศิลปะกันจริงจังทุกแห่งจริงๆ ยอมใจในเรื่องพวกนี้เลย
แค่ซุ้มประตูก็คุ้มค่าเข้าแล้วนะสำหรับ Amber Fort
ลวดลายบนฝาผนัง ไม่รู้เรียกว่าอะไร แต่ชอบบบบอ่ะ ลายสวยมากกกกกกกก
ถ่ายรูปพร้อมซึมซับกับลายบนฝาผนังอยู่นาน ก็ถึงเวลาที่ควรจะเดินเข้าด้านในสักที
ด้านในเป็นเหมือนเขาวงกตมากค่ะ เรามาแบบไม่มีไกด์ก็ใช้วิธีเดินไปเรื่อยๆถ้าเจอทางตันก็ถอยกลับ สู้กับอากาศที่ร้อนขึ้นเรื่อยๆไม่รู้จะน่าค้นหาหรือหงุดหงิดก่อนดี
เราเดินตามทางมาเรื่อยๆจนมาทะลุเจอกับลานอีกแห่งหนึ่ง ลานแห่งนี้เป็นลานขนาดใหญ่ที่แบ่งออกเป็นสองโซนคือ โซนที่สวนหย่อมที่ออกแบบไว้อย่างสวยงาม
อีกโซนภายในมีอาคารที่ตกแต่งฝาผนัง เพดาน ด้วยกระจกเงาบานเล็กๆประกอบกันเป็นลวดลายต่างๆสวยงามมากค่ะ
จุดนี้จะมีเจ้าหน้าที่คอยเฝ้านะ ไม่ให้เราเข้าในเขตที่ห่วงห้าม
เราเดินต่อไปอีกเรื่อยๆ ก็จะเจอกับลานขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่(น่าจะ)ใจกลาง Amber Fort แห่งนี้
จาก Amber Fort เมื่อมองออกไปจะเห็นวิวกำแพงเมืองทอดยาวอยู่ตามแนวภูเขา ซึ่งสามารถไปเยี่ยมชมได้นะ แนะนำว่าให้ไปดูพระอาทิตย์ตก อ่านข้อมูลมาว่าสวยมาก แต่เรามาหน้าร้อนแบบนี้ก็ค้างไว้ก่อนนะ รอบนี้ไม่สู้จริงๆ
เราใช้เวลาอยู่ใน Amber Fort หลายชั่วโมงมากๆๆ สถานที่แห่งนี้ควรค่าแก่การมาเยือนมากจริงๆ
ระหว่างที่เราอยู่อินเดีย ด้วยเราหน้าตาเหมือนคนอินเดีย เลยมักไม่มีคนอินเดียมาขอถ่ายรูปเหมือนเพื่อนสองสาวหมวยของเรา แต่จะมีคนอินเดียเข้ามาขอให้ถ่ายรูปให้ตลอด 55555 ส่วนเรานั้นหน้าคมๆแขกๆจนมีคนเข้ามาทักบ่อยมากกกกกกก ว่าเป็นอินเดียรึป่าว มีปู่ย่าตายายเป็นคนอินเดียหรอ ตลอดดดด พอบอกว่าไม่มี ก็ไม่เชื่ออีก บอกลองกลับบ้านไปถามบรรพบุรุษดูนะ เอ้าาาาาาาาาา
คุณหลอกดาว
“เดี๋ยวผมพาพวกคุณไปบ่อน้ำโบราณที่นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูปกันนะครับ”
“โอเคค่ะ”
“มึงไอบ่อน้ำที่คนมาอินเดียลงไปถ่ายรูปสวยๆกันใช่มั้ย”
“น่าจะใช่”
“ดีๆกูอยากมีรูปสวยๆที่นั่นด้วย”
บทสนทนาของผู้หญิงไทยสามคนหลังฟังจุดหมายปลายทางต่อไปจบ
พวกเราเดินเข้าไปยังบ่อน้ำ จัดแจงหามุมในการนั่ง จัดตำแหน่งของตากล้องเสร็จสรรพ แล้วเราก็นั่งรถริมบ่อน้ำ
“ปรี๊ดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดด ห้ามนั่งๆๆ ห้ามลงไปด้วย ห้ามๆๆๆ ถอยๆๆเลย”
“อ้าววววววววววววว ทำไมคะ”
“ห้ามมมมมม”
อยู่ๆเสียงนกหวีดดังมาจากไหนไม่รู้ พร้อมกับชาวอินเดียที่แต่งตัวเหมือนตำรวจเข้ามาตะโกนไล่พวกเรา
“อ่าวววว ทำไมคนอื่นเขามาแล้วเขาถ่ายได้ว้ะ”
“หรือเขาไม่เจออิตาลุงคนนี้”
“ไม่รู้ว่ะ งั้นถ่ายรอบๆก็กลับละกัน แม่งยิ่งร้อนๆ ยิ่งหงุดหงิด”
เราบอกเพื่อนด้วยอาการเซ็งๆ
ระหว่างทางนั่งรถก็ยังเกิดความสงสัยว่าทำไมคนอื่นถึงถ่ายรูปได้ ทำไมเราถึงถ่ายไม่ได้ หาไปหามาก็ไปเจอว่า จริงๆแล้วบ่อน้ำโบราณหลายๆแห่งห้ามลงไปจริงๆ แต่ถ้าใครอยากจะถ่ายรูปให้ยัดเงินให้อิตาลุงที่เฝ้าที่นั้น ก็จะได้ลงไปถ่ายรูปสบายใจเชิ้บบบบบบบบบบบบบบบบ
คุณหลอกดาววววววววววว คุณอวดรูปสวยๆๆ คุณไม่ได้บอกว่ามันต้องมีเทคนิค ยัดเงินนนนน ดังนั้นใครมาอินเดียอยากเข้าไปถ่ายรูปสวยๆ ยัดเงินโล้ดดดดดดดดดดดดดด จอ บอ จบ
ทุบหัวเข้าบ้าน
หลังจากที่เราออกมาจากบ่อน้ำโบราณแล้ว พี่คนขับตุ๊กๆพาเรามาแวะถ่ายรูปพระราชวังกลางน้ำ สถานที่แห่งนี้ไม่ได้เปิดให้ประชาชนเข้าไปได้นะ เราได้แค่ถ่ายรูปจากบนฝั่งเท่านั้น และแนะนำให้มาช่วงที่พระอาทิตย์กำลังจะตก สวยกว่ามาต้องบ่ายแบบเราเยอะ
“พวกคุณชอบอัญมณีมั้ยครับบ”
“ไม่ค่ะ ขอบคุณ”
“ผมรู้จักร้านอัญมณีสวยนะครับ”
“ไม่เลยค่ะ พวกเราไม่มีใครชอบอัญมณีเลยสักคนเดียว”
บทสนทนาของพี่คนขับตุ๊กๆมันคุ้นๆแปลกๆ เนอะ แต่เมื่อจับทางได้ก็ขอปฏิเสธไว้ก่อน
“งั้นไปดูผ้าดีกว่าครับ ผ้าสวยๆมีเยอะมาก”
พี่แกไม่รอให้พวกเราตอบตกลง แต่พาเลี้ยวเข้าไปยังร้านขายผ้าเลย ร้านแห่งนี้อยู่ไกลจากชุมชนหน่อย เป็นเหมือนโกดังขายผ้ามากกว่าร้าน พวกเราเข้าไปด้านในอย่าง งงๆ แล้วด้วยความป่วนของตัวเรานั้นก็ทำแกล้งเลือกผ้า ให้อินเดียลื้อออกมาโชว์จนรกร้านไปหมด 55555
ตอนนั้นมองตากับเพื่อนแล้วว่าพวกเราต้องซื้อแล้วล่ะ ถ้าจะออกจากพื้นที่นี้ได้ เพราะพื้นที่เป็นบ้านที่มีประตูมิดชิด ถ้าเขาไม่ยอมให้เราออกไปก็อย่าหวังจะผ่านผู้ชายอินเดียร่างใหญ่ๆเกือบ 10คน ในที่นี่ไปได้
เรารีบรับผิดชอบตัวเองด้วยการเลือกผ้าปูตรงผืนยาวเพื่อเอาไปฝากคุณมัมที่เมกา สุดท้ายพวกเราทุกคนได้ผ้ากันมาคนละชิ้นเพื่อพาตัวเองออกจากร้านสักที
ของที่ซื้อมาตลอดทริป
ย้อมใจ
การที่จะกลับไปยังโรงแรมเพราะทั้งหิว ทั้งเพลียจากแดดและจากการเสียเงิน เราขอให้พี่ตุ๊กๆพาเราวนรอบบริเวณพระราชวังสายลม เพื่อจะได้เซอเวย์ไว้ก่อน เพราะตั้งใจจะมาเดินซื้อของบริเวณนี้ด้วย
มาถึงโรงแรมก็หิวตาลายมาก รีบพุ่งเข้าไปในห้างฝั่งตรงข้ามทันที หันซ้ายหันขวาไม่รู้จะกินอะไรดี สุดท้ายตัดสินใจสั่งพิซซ่า 1 แถม 1 กลับไปกินที่ห้องดีกว่าเพลีย
กินพิซซ่าจนอิ่ม ร่างกายก็เริ่มบอกว่า จะต้องนอน อาการพวกเราทั้งหมดเหมือนจะเป็นลมแดด เพลียๆไงยังไม่รู้ หรือ ขี้เกียจว้ะเรา
Day 6
ไม่ยอมตื่น
เมื่อวานจากการที่ได้พิซซ่ารสชาติอินเดียแบบอินเตอร์ย้อมใจกันไป แล้วก็บอกทุกคนว่าจะต้องตื่นประมาณ 5 โมงเย็นนะ เราจะออกไปเที่ยวกันน แต่ปรากฎว่าไม่มีใครตื่นนนนนนนนนนน ตื่นเอา 1ทุ่ม แล้วมันจะทำอะไรได้อีกกกกกกก
เช้าวันสุดท้ายของการเที่ยวในอินเดีย ต่างคนต่างตั้งนาฬิกาปลุกในโทรศัพท์กันไว้เช้าตรู่ แต่เอาเข้าจริงกว่าเราจะตื่นก็ 10 โมงแล้ววววววววววววววว
ตอนนี้กลายเป็นว่าเวลาที่เรามีกับสถานที่ๆจะไปมันเริ่มจะไม่พอ ไม่น่าเล้ยยยยยย สงสัยคงได้กลับมาแก้มือที่จัยปูร์อีกแน่ๆ
เช้านี้เราเช็คเอ้าท์ออกจากโรงแรม แต่ขอฝากกระเป๋าไว้ก่อนเพราะเราจะบินกลับไทยกันตอนค่ำๆ หลังจากนั้นก็ขอให้พี่ยามผู้น่ารักที่หน้าโรงแรมช่วยเรียกตุ๊กให้เราเหมือนเดิม แต่จุดหมายปลายทางของเรามุ่งหน้าไปยัง City Palace
Landmark
City Palace
ช่วงก่อนมาทริปอินเดีย เป็นช่วงที่มีรีวิวเกี่ยวกับอินเดียออกมาเยอะมากกกกกกกกก โดยเฉพาะรีวิวจัยปูร์ ทุกรีวิวก็ทำให้เราจะสะดุดตากับห้องสีน้ำเงินที่ลวดลายสวยๆ เราเลยหาข้อมูลเพิ่มต่อจนรู้ว่าการที่จะเข้าไปในห้องแห่งนี้นั้น เราต้องซื้อเป็นแพ็คเกจที่มีไกด์มาให้พร้อม
City Palace ใครที่จะเข้าห้องสีน้ำเงินสวยๆนั้นจะต้องจ่ายคนละ 2500 รูปี
City Palace ค่าเข้าไม่ได้อยู่ใน Tourist Pass นะคะ
หลังจากจ่ายค่าเข้าเรียบร้อยแล้วก็รอให้ทางเจ้าหน้าที่จัดไกด์มาให้ค่ะ ซึ่งไกด์เราไม่สามารถเลือกได้นะ เรารอไกด์อยู่สักพัก ในที่สุดไกด์เราก็มาเป็นชายสูงวัย และอีกคนเป็นชายวัยไล่เลี่ยกับเรา